ปมกังขา บริษัท “กำนันนก” ประมูล 2 โครงการสร้างถนนนครปฐม

อาชญากรรม
12 ก.ย. 66
16:31
4,084
Logo Thai PBS
ปมกังขา บริษัท “กำนันนก” ประมูล 2 โครงการสร้างถนนนครปฐม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ดีเอสไอ เรียกสอบปากคำ 65 บริษัทผู้ซื้อซองประกวดราคา ส่อเค้าฮั้วเปิดทางให้บริษัท “กำนันนก” ชนะ พบประมูล E-bidding ต่ำกว่าราคากลาง 31-37 %

ในที่สุดคดี “หน่อง ท่าผา” ลูกน้องกำนันนก “ประวีณ จันทร์คล้าย” ยิง “สารวัตรแบงค์” หรือ พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว อดีตสว.ส.ทล. 1 กก.2 บก.ทล. ก็บานปลาย

ไม่เพียงทำให้ “ผู้กำกับเบิ้ม” พ.ต.อ.วชิรา ยาวไทยสงค์ ผกก.2 ทล. 1 กก.บก.ทล. 2 เกิดอาการเครียดจนต้องปลิดชีพตัวเอง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาแล้ว ตำรวจยังมีการสืบสวนขยายผลไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออนไลน์ การรับเหมาก่อสร้าง และอื่นๆ เพื่อตามล่าหาเบื้องลึก-เบื้องหลังและความจริงที่เกิดขึ้น

ปมกังขา 2 โครงการรับเหมาก่อสร้างถนนนครปฐม

ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า การตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนในพื้นที่ จ.นครปฐม ของบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรงก่อสร้างและบริษัท ป.รวีกนกก่อสร้างเป็นโครงการรับเหมาก่อสร้าง ที่มีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท และอยู่ในอำนาจการสอบสวนของคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาดีเอสไอมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฮั้วประมูลในพื้นที่ภาคอีสานมาก่อนมาแล้ว

และพบว่าจะมีกลุ่มคนประมาณ 4-5 กลุ่มที่รับหน้าที่จัดฮั้ว ในทุกครั้งที่มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) โดยคนกลุ่มนี้ก็ใช้วิธีการที่เรียกว่า จัดฮั้วคู่ขนานในลักษณะคล้ายการจัดงานให้กัน โดยมีการเคลียร์ทาง เพื่อให้เหลือคู่เทียบให้น้อยที่สุด เนื่องจากการประมูล E-bidding จะไม่มีใครทราบราคา

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบโครงการที่พบความผิดปกติ เบื้องต้นมี 2 โครงการที่มีมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท คือ โครงการจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว จ.นครปฐม ของกรมทางหลวง ในปีงบประมาณปี 2560 โดยบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด วงเงินสัญญา 298,399,900 บาท โดยมีชื่อผู้ขอรับ/ซื้อเอกสาร 33 บริษัท แต่วันที่รับซื้อมีผู้ยื่นเอกสาร 4 บริษัท

ปี 2560 พบความผิดปกติมากๆ ในโครงการก่อสร้างเส้นทาง 375 ตอนตูม-ลำลูกบัว กรมทางหลวงตั้งงบประมาณไว้ 300 ล้านบาท ไม่มีการระบุว่าราคาอยู่ที่เท่าไหร่ แต่มีวงเงินสัญญาที่ 298 ล้านบาท แม้จะห่างงบประมาณจริงไม่มาก แต่กลับมีชื่อคู่แข่งวันเคาะราคาประมูลแค่ 4 บริษัท และหนึ่งในนั้นคือบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์

นอกจากนี้ ยังพบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันเมื่อปี 2564 ในโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 วงเงินงบประมาณ 350 ล้านบาท พบว่ามีราคากลางอยู่ที่ 349 ล้านบาท แต่ประมูลแล้วได้ 240 ล้านบาท ประมูลแบบ E-bidding ต่ำกว่าราคากลาง 31-37%

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุว่า หมายถึงอาจจะมีการทำฮั้วแตก โดยดีเอสไอต้องสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่ามีผู้มายื่นประมูลทั้งหมด 32 ราย ที่มาซื้อซองหรือขอรับเอกสาร แต่ในวันที่มาประมูลมีการเข้า E-bidding จริงเพียง 3 รายและหนึ่งในนั้น คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นรายใหญ่อีกเช่นกัน และได้ราคาต่ำสุดไป จึงส่งผลให้เห็นความผิดปกติทางด้านข้อมูล

ด้วยข้อพิรุธดังกล่าว ทำให้ดีเอสไอต้องตรวจสอบโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย โดยบริษัท ป.กนกรวีก่อสร้าง จำกัด 2 โครงการ และบริษัท ป.พัฒนาฯซึ่งพบว่าได้งานมูลค่าเกิน 30 ล้านบาท เมื่อปี 2555 จำนวน 18 โครงการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ยังไม่ได้ประเมินมูลค่าทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าใด

เรียกสอบ 65 บริษัทยื่นซองประกวดราคา

สำหรับคดีดังกล่าวขณะนี้ดีเอสไอ ได้เสนอต่อ พ.ต.อ. สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตั้งเลขสืบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริง โดยได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่และเรียกบุคคลที่ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ

โดยจะแจ้งหมายและหนังสือเรียกผู้ซื้อซองประกวดราคา จำนวน 65 บริษัทว่า ถูกใครบังคับ ในวันที่ 18-20 ก.ย.นี้ โดยทั้งหมดจะูถูกเรียกมาสอบในฐานะพยานก่อน

กลุ่มคดี E-bidding ระบบจะต้องใช้การประมูลที่โปร่งใส ซึ่งตามปกติข้อมูลการซื้อซองจะไม่มีใครรู้ว่า มีใครต้องเข้าบ้าง แต่กรณีที่เกิดขึ้นเหมือนกับมีคนรู้แล้วถูกบังคับให้ออกมา มีคนสมัครใจออก ไม่ทราบว่าเขาจะรู้กันหรือถูกบังคับให้ออก มีการสมยอมราคากันหรือไม่ ซึ่งตัวแทนบริษัทที่ถูกเรียกสอบจะต้องตอบคำถามกับพนักงานสอบสวนให้ได้” ร.ต.อ.สราวุฒิ กล่าว

บริษัทฯ “กำนันนก” ประมูลก่อสร้าง 919 โครงการ

สำหรับธุรกิจในเครือของกำนันนก พบว่ามี 2 บริษัท คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และ ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด โดยก่อนหน้านี้นายประโยชน์ จันทร์คล้าย บิดากำนันนก เปิดห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และเริ่มเข้ามารับงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเมื่อปี 2554

ต่อมาในปี 2556 จึงมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทขนาดกลางและรับงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในชื่อบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง โดยมีนายประโยชน์ จันทร์คล้าย เป็นกรรมการใหญ่ มีผู้ถือหุ้น 3 คน คือ นายประโยชน์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 55% นางสุวีณา จันทร์คล้าย 30% และกำนันนกถือหุ้น 15%

ทั้งนี้กำนันนกมีชื่อเป็นกรรมการร่วมกับนายประโยชน์ และเข้ามาร่วมบริหารกิจการแล้ว ส่วนงานการรับงานรับเหมาก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ปี 2554-2566 จำนวน 919 โครงการและก่อนจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายประโยชน์อยู่ในขั้นตอนการถ่ายโอนกิจการให้กับกำนันนก

ส่วนบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า มีชื่อกำนันนก “ประวีณ จันทร์คล้าย” เป็นกรรมการเพียงคนเดียว มีทุนจดทะเบียนในวันที่ 9 ก.ย.2552 จำนวน 30 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย

นอกจากนี้กำนันนกยังมีรายชื่อยังเป็นหนึ่งในกรรมการ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ที่ทำธุรกิจ รับเหมาก่อสร้างผลิตและจำหน่ายยางแอสฟัลต์ติกคอนกรีต โดยจดทะเบียนวันที่ 14 พ.ค. 2556 จำนวน 100,000 บาท

สำหรับงบกำไรขาดทุนล่าสุด ปีงบการเงิน 2561- 2565พบว่ามีรายได้รวม 1,819, 417,511 ล้านบาท มีกำไรประมาณ 25,697,199 ล้านบาท หรือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทของกำนันนกทั้ง 2 บริษัท มีรายได้รวม 2,645,671,447 ล้านบาท หรือกำไรประมาณ 54 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ผบก.ทล.เสียใจ-วอนให้เข้าใจ “ผกก.เบิ้ม” เครียดจนเกิดเหตุสลด ไม่อยากให้เกิดศพที่ 3

“ดีเอสไอ” จ่อสอบ 2 โครงการสร้างถนนบริษัท “กำนันนก” จับตาฮั้วประมูลหรือไม่

DSI สอบย้อนหลัง 2 บริษัท "กำนันนก" รายได้ไม่สอดคล้องงบดุล 

เปิดอาณาจักร "กำนันนก" ทายาทรับเหมารายใหญ่นครปฐม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง