ซอฟต์พาวเวอร์ “สงกรานต์” ทั้งเดือนเมษายน ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้าม

การเมือง
5 ธ.ค. 66
15:23
5,896
Logo Thai PBS
ซอฟต์พาวเวอร์ “สงกรานต์” ทั้งเดือนเมษายน ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้าม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การเปิดแผนงานซอฟต์พาวเวอร์ ปี 2567 เล่นสงกรานต์ทั้งเดือนเมษายนทั่วประเทศ หวังให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก ปักหมุดมาเล่นสาดน้ำที่ประเทศไทย โดย “อุ๊งอิ๊งค์” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ถูกจุดพลุขึ้น

พร้อมเป้าหมาย ยกระดับเป็นงานเทศกาลระดับโลก ที่จะทำให้ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ประเทศสุดยอดเฟสติวัลโลก

แต่ในทางกลับกัน กลายเป็นประเด็นร้อนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันควัน กลุ่มหนึ่งสนับสนุน เห็นว่า เป็นการส่งเสริมประเพณีสงกรานต์ ที่ชาวโลกรู้จักกันดีอยู่แล้ว ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นการยกระดับความสำคัญเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาเล่นสงกรานต์ เพิ่มเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ระหว่างการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ไม่ใช่เฉพาะคนในรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย รวมทั้งนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่สนับสนุนแนวทางนี้ ในเฟซบุ๊คและแพลตฟอร์ม X (ทวิตเตอร์) ของพรรคเพื่อไทย ได้เปิดโปรแกรมยกระดับสงกรานต์ โดยย้ำว่า จะเป็นแบบทยอยจัดไปตามพื้นที่และภูมิภาคต่าง ๆตลอดทั้งเดือนเมษายน 2567

มีการยกตัวอย่างกรุงเทพฯ จะจัดระหว่าง 7-12 เม.ย. ที่ถนนข้าวสาร เซ็นทรัลเวิลด์ และไอคอนสยาม เป็นต้น จากนั้น อ.เด่นชัย จ.แพร่ และพื้นที่ชลบุรี พัทยา จัด 16-20 เม.ย. ต่อด้วยงานวันไหล อ.บ้านบึง จ.ระยอง และสงกรานต์พระประแดง จ.สมุทรปราการ จัด 21-27 เม.ย.

ทั้งยังมีจัดหนักจัดเต็ม ตอบโต้ฝ่ายที่คัดค้านไม่เห็นด้วย โดยนายพร้อมพงษ์ นพฤทธิ์ ว่าเป็นพวกมือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ

แม้แต่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการจำนวนไม่น้อย ต่างออกมาขานรับ เห็นว่าจะเป็นการสร้างเม็ดเงินกระจายทั่วประเทศ

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่เห็นด้วย แม้เหตุผลอาจต่างกันบ้างในประเด็นปลีกย่อย แต่หลักๆสอดคล้องกันคือคัดค้าน ตั้งแต่ติงติงแบบเบาๆ อย่าง รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความสั้นๆ “ปีหน้า น้ำแล้ง เพราะเอลนีโญนะครับ”

ไปกระทั่งที่ดุเดือดเข้มข้น อย่าง ดร.เสรี วงษ์มณฑา ที่ใช้คำว่า ไม่ฉลาดมากแค่ไหน ถึงคิดได้แบบนี้ จะให้เล่นสงกรานต์กันทั้งเดือน ไม่ต้องทำงานทำการกันหรืออย่างไร

แต่ที่ชี้ช่องถึงขั้นเอาผิดทางกฎหมายก็มี อย่าง นายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ระบุชัดว่า หากเล่นเกินกว่า 3 วัน 5 วัน ผิดไปจากประเพณีปกติ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีหรือฟ้องร้องผู้ที่ละเมิด และเอาผิดผู้ที่เป็นต้นคิดแหกกฎประเพณีดังกล่าวได้ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

นายศรีสุวรรณ ได้อธิบายคำว่า ประเพณี ซึ่งถือปฏิบัติกันมานานด้วยว่า หมายถึง สิ่งที่เชื่อถือ และยึดเป็นแนวปฏิบัติสืบต่อกันมาในสังคมหนึ่งๆ จนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม หรือจารีตประเพณีอันดี

เป็นประเด็นสำคัญ ที่สะท้อนว่าไม่ควรจะด้อยค่า เพราะสงกรานต์ของไทย เป็นทั้งขนบ วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามที่ต่อเนื่องกันมา และสงกรานต์ของไทย มีที่มาที่ชัดเจน คือเป็นช่วงเทศกาลขึ้นปีใหม่ของคนไทยโบราณ มีความเชื่อที่เป็นมรดกตกทอดว่ามีเรื่องตำนานมหาสงกรานต์ กับ 7 นางสงกรานต์

สงกรานต์ยังมีความเชื่อในเรื่องชื่อและข้อปฏิบัติของสงกรานต์ 3 วัน ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนาน อาทิ คนภาคกลาง เรียกวันที่ 13 เม.ย. ว่า วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เม.ย. เรียกว่า วันเนา วันที่ 15 เม.ย. เรียกว่า วันเถลิงศก คือ วันเริ่มจุลศักราชใหม่ คนภาคเหนือ และคนในภาคใต้ ก็เช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากถึงเทศกาลสงกรานต์ ต้องทยอยจัดตามแนวทางรัฐบาลหรือไม่ เพราะประเพณีและความเชื่อของคนไทยที่ยังมีอยู่ จะให้ทำอย่างไร หรือให้จัดซ้ำซ้อนในวันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกหรือไม่ หากจัดซ้ำ เท่ากับต้นทุนเรื่องการใช้น้ำ ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือจะห้ามจัด แล้วความเชื่อในวันนั้นจะเป็นอย่างไร

ยังไม่นับรวม หากเล่นสงกรานต์ต่อเนื่องทั้งเดือน เท่ากับปริมาณและต้นทุนการใช้น้ำในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ในช่วงจังหวะที่จะเกิดเอลนีโญ่ คือน้ำแล้ง หรือแม้แต่ในปีปกติ จะเหมาะสมแค่ไหนกับการใช้น้ำเล่นสงกรานต์ตามแนวทางของรัฐบาล

ไม่เพียงเท่านั้น การจัดสงกรานต์ตามเทศกาลที่ถือปฏิบัติกันปกติ เจ้าหน้าที่ภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องแบกรับภาระตลอดช่วง 10 วันอันตรายที่กำหนดขึ้น แต่หากเพิ่มเป็นตลอดปี ทั้งเงิน ทั้งงบประมาณ ทั้งคนตายคนเจ็บจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน

แม้จะอ้างว่าแบ่งพื้นที่การจัด แต่จะมีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศเดินทางจากทุกภาคทุกทิศไปร่วมงานด้วย ไม่แคล้วจะเกิดสภาพ “เมาแล้วขับ” เพิ่มสถิติขึ้นไปอีก

เหรียญมี 2 ด้านเสมอ จึงละเลยไม่ได้ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน การหวังผลจากรายได้จากนักท่องเที่ยวคือเรื่องดี แต่จะได้ผลจริงตลอดทั้งเดือนจริงหรือไม่ และผลเสียอันเกิดจากความคิดใหม่เช่นนี้ จะมีมรรคผลในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบจริงหรือ?

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง