"มาดามเดียร์-พี่ต่อ" เลือก หน.ประชาธิปัตย์ ชี้ชะตาอนาคตพรรค

การเมือง
9 ธ.ค. 66
09:03
732
Logo Thai PBS
"มาดามเดียร์-พี่ต่อ" เลือก หน.ประชาธิปัตย์ ชี้ชะตาอนาคตพรรค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อีกไม่กี่ชั่วโมง ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด น่าจะทราบแล้วว่าใครจะนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่แทนนายจุรินทร์ ที่ประกาศลาออกหลังการเลือกตั้งเมื่อพ.ค. คู่ชิงระหว่างนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และน.ส.วทันยา บุนนาค จากนี้โฉมหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะออกมาเป็นเช่นไร

หัวหน้าพรรคคนที่ 9 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะมาทำหน้าที่นี้ ในบรรยากาศของพรรคประชาธิปัตย์ในแบบที่เป็นอยู่ ที่ต้องบอกแบบนี้หากเลือกได้คงไม่ปล่อยว่างมากว่า 7 เดือน

จากแนวคิดที่เห็นต่าง ของ 2 กลุ่มหลัก ชัดเจนกลุ่มผู้อาวุโส "นายชวน หลีกภัย" ที่ประกาศชัดเจนขอทำหน้าที่ฝ่ายค้าน หวังเรียกศรัทธาของแฟนคลับกลับคืนมา ซึ่งก็ใกล้เคียงกับแนวคิดของ "มาดามเดียร์-วทันยา บุนนาค" ที่พูดมาตลอดต้องสร้างความเชื่อมั่น กลับมาทำให้อุดมการณ์ของพรรคชัดเจนอีกครั้ง และไม่หวั่นว่าคู่แข่งจะเป็นใคร ขอทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

ขณะที่ สส.อีกกลุ่ม ที่ดูเหมือนเผื่อใจไปให้พรรคเพื่อไทย ดูจากลงมติโหวตนายกฯ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วยเสียงเห็นชอบ 482 เสียง มี 16 เสียงประชาธิปัตย์ ที่แหวกมติพรรคงดออกเสียง ไปเห็นชอบ หลักๆ คือนายเดชอิศม์ ขาวทอง และ นายชัยชนะ เดชเดโช ที่แสดงจุดยืนสนับสนุน "พี่ต่อ-นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน" ที่อดีตเคยพูดว่าจะหันหลังให้กับการเมืองแล้ว แต่เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้ต้องกลับมา หากต้องกลืนน้ำลาย ตรงนี้เองก็เพื่อต้องการทำให้พรรคกลับมายืนได้อีกครั้ง

ดูเหมือนจะเป็นสงครามตัวแทน แต่แท้จริงแล้ว ทั้งพี่ต่อ และมาดามเดียร์ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาทั้ง 2 คนก็ไปมาหาสู่กันตลอด หรือการตัดสินใจลงสมัครชิงหัวหน้าพรรค ของมาดามเดียร์พูดคุยกับพี่ต่อตลอด ดังนั้นหลังได้หัวหน้าพรรคแล้ว ดูยากจะออกมาในทิศทางไหน เพราะต้องฝ่าถึง 2 ด่าน ด่านแรก ข้อบังคับพรรคสมาชิกที่จะเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ ต้องสังกัดพรรรคไม่น้อยกว่า 5 ปี ซึ่งมาดามเดียร์ไม่ถึง ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 แก้ตรงจุดนี้

หากหลุดไปได้แต่ต้องบอกว่าเสียง 21 สส. ที่หนุนนายเฉลิมชัย ได้เปรียบกว่ามาก ตามข้อบังคับพรรคข้อที่ 87 กำหนดให้การคิดคะแนนเสียงมาจาก สส. ร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 ที่เหลือมาจากหลายส่วน เช่น อดีตหัวหน้าพรรคฯ อดีต สส. อดีตรัฐมนตรี อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากวัดจากบัญญัติไตรยางศ์ตัวเลข ไม่น่าจะดูยากว่าจะออกมาในทิศทางไหน ว่ากันว่า 21 สส. ที่หนุนเฉลิมชัยก็เกินร้อยละ 50 แล้ว ไม่น่ามีปัญหา

จริงๆ แล้วกระแสดึงนายเฉลิมชัย มาเป็นหัวหน้าพรรค ปล่อยออกมาต่อเนื่อง แต่ที่ชัดที่สุดน่าจะเป็นหลังจากที่นิด้าโพล เผยผลสำรวจที่พบว่าคะแนนของมาดามเดียร์ นำมาเป็นอันดับที่ 1 ในสายตาของประชาชนทั่วไป แซงหน้า "นราพัฒน์ แก้วทอง" ที่เสนอตัวมาเป็นหัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้ และตำแหน่งนี้น่าจะเป็นจุดพลิกที่ทำให้พรรคกลับมายืนได้อีกครั้งหรือมากโพลที่มองว่าหัวหน้าพรรคเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการนำพาพรรรค นั่นจึงอาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ต้องเชิญนายเฉลิมชัยมาถือธงนำพรรค

มุมของนักวิชาการจากนิด้า รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองฯ กลับมองว่า หากประชาธิปัตย์ยังหวังจะเข้าร่วมรัฐบาลจะยิ่งเป็นการเดินถอยหลัง

ตอนนี้ถ้านายเฉลิมชัย เข้ามาทำหน้าที่จริง สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือการเรียกความศรัทธาและความเชื่อมั่น อย่าลืมว่าเคยลั่นวาจาไว้จะยุติบทบาทการเมือง และต้องทำควบคู่กับการสร้างความสามัคคีของคนในพรรค ไม่แน่ว่าอาจเห็นการตั้งมาดามเดียร์ ขึ้นมาทำหน้าที่ตำแหน่งสำคัญในพรรรคเพื่อประสานรอยร้าวก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง