ทำไม ? เราถึงสนใจ “ดาวเคราะห์กลุ่มที่เล็กกว่าดาวเนปจูน” ภายนอก “ระบบสุริยะ”

Logo Thai PBS
ทำไม ? เราถึงสนใจ “ดาวเคราะห์กลุ่มที่เล็กกว่าดาวเนปจูน” ภายนอก “ระบบสุริยะ”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มดาวเคราะห์ที่เล็กกว่าดาวเนปจูน กำลังเป็นเป้าหมายสำหรับสายงานตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) และสิ่งมีชีวิตนอกโลก

จากข่าวระบบดาว HD 110067 ที่มีการค้นพบดาวในกลุ่มดาวเคราะห์ที่เล็กกว่าดาวเนปจูน (Sub-Neptune Planet) จนใครหลายคนตั้งชื่อมันว่ากลุ่มดาวเนปจูนน้อย กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจและมองเห็นถึงการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เริ่มเข้ามาสนใจถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ในกลุ่มนี้ ดาวเคราะห์ที่ได้ชื่อว่า “ว่าที่บ้านสำหรับสิ่งมีชีวิตนอกโลก”

ในการตีพิมพ์งานวิจัยชุด A resonant sextuplet of sub-Neptunes transiting the bright star HD 110067 ในวารสารวิชาการ Nature Astronomy ได้ระบุถึงการพบดาวเคราะห์ในระบบดาวถึง 6 ดวงโดยในแต่ละดวงมีขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือใหญ่กว่าโลกเล็กน้อยแต่ไม่เท่ากับดาวเนปจูน หรือช่วง 1-4 เท่าของโลก ซึ่งเป็นระบบที่มีใครหลายคนเรียกว่าระบบดาวเคราะห์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด สมบูรณ์แบบยิ่งกว่าระบบสุริยะของเราเสียอีก

ดาวเคราะห์ที่มีกลุ่มชื่อแปลกที่เรียกว่า กลุ่มดาวเคราะห์ที่เล็กกว่าดาวเนปจูน (Sub-Neptune Planet) หรือที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าอยู่ในช่วง 1-4 เท่าของโลก เป็นกลุ่มดาวเคราะห์ที่กำลังเป็นที่สนใจในกลุ่มของสายงานตามหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) และสิ่งมีชีวิตนอกโลก เพราะสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มันน่าสนใจคือ มันไม่มีในระบบดาวของเรา

ในระบบดาวของเรา โลกคือดาวเคราะห์หินที่ใหญ่ที่สุด ดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ จะเป็นดาวเคราะห์น้ำแข็งอย่างยูเรนัสหรือเนปจูน ไม่มีดาวเคราะห์ที่เป็นลักษณะหินแต่มีลักษณะที่ใหญ่กว่าโลกแต่ยังเล็กกว่าดาวเนปจูนให้เห็น แต่ระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะนั้นกลับพบเป็นจำนวนมาก ความน่าสนใจอันดับแรกของเรื่องนี้คือ เหตุใดระบบดาวของเราจึงไม่มีดาวเคราะห์ลักษณะนี้ ขณะที่เพื่อนบ้านของเรามีดาวเคราะห์ลักษณะดังกล่าวอยู่มากมาย

หากตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็คงตอบได้เพียงแค่ “เรายังไม่รู้” แต่พอมีคำสันนิษฐานหยาบ ๆ คือ เป็นผลจากการสุ่มจากความแปรปรวนของระบบดาวของเราในช่วงที่ก่อกำเนิด ส่งผลให้ระบบดาวของเรามีดาวขนาดเล็กใหญ่ในอัตราส่วนที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ซึ่งหากระบบดาวของเรามีอัตราส่วนและการสุ่มตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ในตอนที่กำเนิด ผลลัพธ์ของขนาดดาวเคราะห์ต่าง ๆ ในระบบดาวของเราคงไม่เหมือนกับขนาดในวันนี้แน่

แต่สำหรับระบบดาวอื่นที่มีดาวในกลุ่มที่เล็กกว่าดาวเนปจูนนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรกันแน่ที่ทำให้ระบบดาวที่ก่อกำเนิดด้วยวิธีคล้ายแบบเราถึงมีดาวเคราะห์หินที่เล็กกว่าเนปจูนได้

ถึงแม้เราจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรที่ทำให้เกิดดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเนปจูนได้บ้าง แต่ดาวในกลุ่มนี้ก็มีความน่าสนใจสำหรับนักดาราศาสตร์ในแขนงของการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะไม่น้อย เนื่องจากดาวเคราะห์ในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ และจากลักษณะของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะของเรา เมื่อใหญ่ถึงขนาดหนึ่ง (ใหญ่กว่าดาวอังคาร) จะพบว่ามีชั้นบรรยากาศ และจากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ๆ ที่มีขนาดในช่วงที่กล่าวถึงก็มักจะมีชั้นบรรยากาศอยู่ด้วยเสมอ มันจึงเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่กลุ่มที่น่าสนใจอันดับแรก ๆ สำหรับการมองหาสิ่งมีชีวิต อีกทั้งดาวเคราะห์ในกลุ่มนี้มักจะมีวงโคจรที่เสถียรแล้ว จึงเหมาะสมกับการสังเกตการณ์ระยะยาวเพื่อใช้ในการคาดคะเนวงโคจรของดาวเคราะห์ และด้วยความใหญ่ของมันจึงมักไม่คาบเกี่ยวกับวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นในระบบของมัน

ซึ่งด้วยขนาดและปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้จากการค้นคว้าในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาในแขนงของ Exoplanet นั้นก็ทำให้พบว่าดาวเคราะห์ที่อยู่ในช่วงของดาวเคราะห์ที่เล็กกว่าดาวเนปจูนพบได้ทั่วไปบนท้องฟ้า แถมยังสามารถทำการศึกษาได้ง่ายกว่าจากลักษณะและความใหญ่ของมัน อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะพบกับดาวเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเหมาะสม กับการมีปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่คล้ายกับโลกของเราอีกด้วย จึงไม่แปลกที่ดาวเคราะห์ในกลุ่มนี้จะเป็นที่น่าสนใจและน่าจับตาสำหรับบรรดานักดาราศาสตร์ทั้งหลาย

ที่มาข้อมูล: nature

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง