ชายแทร่! เมื่อความเป็น "ชาย" กลายเป็นคำดูถูก

สังคม
21 ธ.ค. 66
16:28
8,981
Logo Thai PBS
ชายแทร่! เมื่อความเป็น "ชาย" กลายเป็นคำดูถูก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อบริบท กาลเวลา มุมมองสังคม ทำให้ "คำ" มีความหมายเปลี่ยนไป จากคำที่แสดงถึงความภาคภูมิใจ ความแข็งแกร่ง มาวันนี้กลับกลายเป็นคำดูถูกผู้มีความคิดเชิง "ชายเป็นใหญ่" บวกกับการเล่นคำตามยุคสมัยทำให้ "ชายแท้" กลายเป็น "ชายแทร่" แทน

"ชายแท้" หรือ "ชายแทร่" ติดอันดับประเด็นร้อนแรงบนโลกโซเชียลปี 2566 โดยมียอดเอ็นเกจเมนต์ถึง 34,912,208 ไวซ์ไซท์ (Wisesight) ผู้ให้บริการวิเคราะห์ Big Data ระบุว่า เป็นปีทองของ #ชายแทร่ เลยก็ว่าได้ หลังจากที่ดารา นักแสดง และศิลปินชายหลายคนเกิดกระแสดรามาขึ้น 1 ในนั้นคือนักแสดงซีรีส์วาย บิว-จักรพันธ์ หลังจากที่มีการแชร์เรื่องราวจากหญิงสาวรายหนึ่ง ที่อ้างเคยตัวว่าเป็นอดีตแฟนของบิว ออกมาแฉว่าถูกทำร้ายร่างกายมาตลอด และอีกคนคือ โอม ภวัต จากกรณีที่มีคนโพสต์ว่า นักแสดงคนนี้มีพฤติกรรมกลั่นแกล้งเพื่อนสมัยเรียน ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อนที่ถูกกระทำบางรายยังมีอาการออทิสติกอีกด้วย

10 ประเด็นร้อนแรงที่สุดบนโลกโซเชียลมีเดียประจำปี 2566 

  1. เลือกตั้ง66 (804,632,727 เอ็นเกจเมนต์)
  2. Miss Universe Thailand (82,508,127 เอ็นเกจเมนต์)
  3. กำนันนก (45,318,099 เอ็นเกจเมนต์)
  4. ชายแทร่ (34,912,208 เอ็นเกจเมนต์)
  5. ทักษิณกลับไทย (28,656,095 เอ็นเกจเมนต์)
  6. เสี่ยแป้ง นาโหนด (28,190,339 เอ็นเกจเมนต์)
  7. สงครามอิสราเอล–ฮามาส (23,768,104 เอ็นเกจเมนต์)
  8. กราดยิงพารากอน (15,421,652 เอ็นเกจเมนต์)
  9. ธุรกิจทุนจีนสีเทา (13,354,978 เอ็นเกจเมนต์)
  10. เรือดำน้ำไททัน (12,934,988 เอ็นเกจเมนต์)

สิ่งที่น่าสนใจคือ คำว่า "ชายแท้" หรือที่พูดกันบ่อยมากขึ้นจนผันมาเป็นคำว่า "ชายแทร่" นอกจากความหมายที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นเชิงลบแล้วนั้น การผันเสียงวรรณยุกต์และเติม ร เรือ เข้าไปในคำ ยิ่งชวนให้รับรู้ถึงการประชดประชันเมื่ออ่านออกเสียงขึ้นมาอีกด้วย

มากไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาทั้ง 9 ประเด็นร้อน ทุกข้อแทบจะสื่อความหมายและเล่าเรื่องราวได้ด้วยตัวเอง แต่คำว่า "ชายแทร่" กลับถูกสื่อความหมายในเชิงลบ ซึ่งตรงกันข้ามกับความหมายที่เราต่างเข้าใจกันมาในเชิงบวกตั้งแต่อดีต 

ชายเป็นใหญ่ - ระบอบปิตาธิปไตย

แม้หลายคนจะบอกว่า เราอยู่ในยุคแห่งความเท่าเทียม ช่องว่างระหว่างความเหลื่อมล้ำทางเพศที่แคบลง แต่ยังปฏิเสธไม่ได้เสียทีเดียวว่า หลายคน หลายครอบครัว ก็ยังอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองในครอบครัว หรือ ในที่ทำงาน "แบบปิตาธิปไตย" หรือ ผู้ชายเป็นใหญ่ 

ปิตาธิปไตย : แต่เดิมหมายถึง "อำนาจของบิดา" แต่ในปัจจุบันหมายถึง "ระบบชายเป็นใหญ่" เป็นระบบสังคมแบบหนึ่งที่เพศชายเป็นผู้กุมอำนาจหลักและครอบงำบทบาท ทั้งในด้านผู้นำการเมือง อำนาจหน้าที่ทางศีลธรรม เอกสิทธิทางสังคม  

ความคิดแบบชายเป็นใหญ่ ถูกส่งต่อในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน เช่น ผู้ชายคือผู้นำครอบครัว ผู้ชายคือผู้ที่มีสิทธิสืบทอดทรัพย์สินต่างๆ ในครอบครัว มีสิทธิตัดสินใจทุกอย่างในบ้าน หรือแม้กระทั่งการกดขี่สิทธิเสรีภาพ จำกัดการศึกษา และการแสดงออกทางความคิดเห็นของผู้หญิง ในเวลาเดียวกัน

ภาพประกอบข่าว : ผู้หญิงทำความสะอาดบ้าน

ภาพประกอบข่าว : ผู้หญิงทำความสะอาดบ้าน

ภาพประกอบข่าว : ผู้หญิงทำความสะอาดบ้าน

อิทธิพลของปิตาธิปไตยยังถูกส่งผ่านวรรณคดีต่างๆ เช่น ไตรภูมิกถา ในยุคสุโขทัย ที่กำหนดให้ชายคือผู้หาเลี้ยงครอบครัว ควบคุมเศรษฐกิจในบ้าน ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เฝ้าครัว, หรือการให้สิทธิสามีมีภรรยาได้หลายคน ในขณะที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิทำเช่นนั้นได้ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน 

สังคมไทย - ชายไม่เคยผิด

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมรวบรวม คำผรุสวาท หรือ คำด่า ที่ใช้สิ่งมีชีวิตรอบตัวมาเปรียบเปรย พบว่าในสังคมไทยใช้ชนิดสัตว์และเพศหญิง ตั้งเป็นคำด่า แต่แทบจะไม่มีคำที่สื่อถึงเพศชายอยู่เลย ... แม้จะใช้ตำหนิ (ด่า) ผู้ชายก็ตาม เช่น  

  • "หมา" ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการแสดงออกของคนจนกลายเป็นคำด่า เช่น ปากหมา, หมาหมู่, หมาลอบกัด เป็นต้น
  • "ควาย" หมายถึง คนโง่ เซ่อ ตัวใหญ่มีกำลังแต่ไม่ฉลาด ที่เปรียบเช่นนี้ก็เพราะคนมองควายว่าเป็นสัตว์ตัวโต แต่ยอมทำตามคำสั่งคนโดยไม่ขัดขืน ไม่ต่อสู้ จึงคล้ายกับคนโง่ที่ยอมทำตามคนอื่น หรือให้คนอื่นจูงจมูกเหมือนควาย
  • "ห่าน" เป็นคำแถมท้ายที่เป็นชื่อสัตว์ เป็นคำด่าของคำว่า "ห่า" นั่นเอง เพียงแต่เติม น.หนู เข้าไปให้ฟังดูสุภาพขึ้น
  • "ลำไย" แปลว่า ชักช้า น่ารำคาญ น่าเบื่อหน่าย หรือร่ำไร มาจากคำว่า รำคาญ+พิรี้พิไร แล้วกร่อนคำเป็น ลำไย เป็นการผสมคำโดยเอาคำพ้องเสียงมาใช้
  • "เผือก" แปลว่า เสือก โดยใช้ "ผ" แทน "ส" เพื่อให้ฟังดูสุภาพ คำนี้คาดการณ์ว่าในสมัยแรกๆ ที่บางเว็บไซต์เซ็นเซอร์คำหยาบ ทำให้พิมพ์ไม่ผ่าน คนเลยเลี่ยงไปใช้คำนี้แทน แต่ความหมายยังคงเดิม
ภาพประกอบข่าว : ระบอบปิตาธิปไตย หรือ ผู้ชายเป็นใหญ่

ภาพประกอบข่าว : ระบอบปิตาธิปไตย หรือ ผู้ชายเป็นใหญ่

ภาพประกอบข่าว : ระบอบปิตาธิปไตย หรือ ผู้ชายเป็นใหญ่

ส่วนคำผรุสวาทที่ใช้เพศหญิง หรือเพศอื่นๆ เป็นส่วนประกอบนั้น เช่น หน้าตัวเมีย, เอาผ้าถุงแม่มาใส่, ใจตุ๊ด ซึ่งคำเหล่านี้แม้สื่อถึงเพศชายที่เป็นคนขี้ขลาด ตาขาว ไม่สู้คน แต่ก็ยังใช้เพศหญิงเป็นคำเปรียบเปรยถึงความกลัว ไม่กล้า ความอ่อนแออยู่ดี 

เวลาเปลี่ยน บริบทเปลี่ยน ความหมายเปลี่ยน

"คำด่า" โดยตัวมันเองเป็นภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและบริบทของสังคม เช่น คำว่า "ชายแท้" ในอดีตมีความหมายเชิงบวกสื่อถึงการแสดงออกถึงความเป็นชายอย่างสมบูรณ์ ออกรบ บวช ผู้นำครอบครัว แต่ในปัจจุบันความหมายกลับเปลี่ยนไป หลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชายใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงมากขึ้น เหยียดความสามารถและทัศนคติของผู้หญิง จึงทำให้ความหมายรวมถึงบริบทการใช้คำว่า "ชายแท้" ในปัจจุบันถูกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง 

โดย "ชายแท้" ในปัจจุบัน The Modernist ให้ความหมายว่า บุคคลที่มีบุคลิก ลักษณะนิสัย และมีทัศนคติที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดปิตาธิปไตยแบบรุนแรง มีแนวโน้มเหยียดเพศ มีแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ ผู้กระทำความรุนแรงกับเพศอื่นๆ มักจะมองว่าเพศชายเป็นเพศที่มีความสำคัญมากที่สุดในสังคม จะต้องอยู่เหนือกว่าเพศอื่นในทุกเรื่อง เมื่อแนวคิดเหล่านี้รวมกัน ทำให้คนๆ หนึ่ง มีแนวโน้มเผยพฤติกรรมคุกคามผู้อื่นจนเป็นอันตราย

ภาพประกอบข่าว : การใช้ความรุนแรงในสังคม

ภาพประกอบข่าว : การใช้ความรุนแรงในสังคม

ภาพประกอบข่าว : การใช้ความรุนแรงในสังคม

ส่วนคำว่า "ชายแทร่" ก็ผันมาจากคำว่า "แทร่" จาก "ของแทร่" ซึ่งคำๆ นี้ก็ติดเทรนด์คำศัพท์ฮิตประจำปี 2566 เช่นกัน ซึ่งแผลงเสียงมาจากภาษาอีสานคำว่า "ของแท้" ที่แปลว่า ของจริง เจ๋ง นั่นเอง 

ที่มา : Wisesight, The Modernist, กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

อ่านข่าวอื่น :

เส้นทาง 22 ปี สู่ "สมรสเท่าเทียม" อีกขั้นสู่ความเท่าเทียม

เปิดหลักฐาน "เส้นผม" น้องชมพู่ มีรอยตัดตรงกับบนเขา-รถลุงพล

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง