อย่าตื่น "ปลาออร์ฟิช" โผล่ไทยคาด IOD มวลน้ำเย็นพาเข้าทะเลสตูล

สิ่งแวดล้อม
4 ม.ค. 67
13:42
3,789
Logo Thai PBS
อย่าตื่น "ปลาออร์ฟิช" โผล่ไทยคาด IOD มวลน้ำเย็นพาเข้าทะเลสตูล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อาจารย์ธรณ์" ไขคำตอบจับปลา "oarfish" ได้ในทะเลอันดามันใกล้เกาะอาดัง จ.สตูล คาดเป็นปลาวัยรุ่นความยาว 5 เมตร มากับมวลน้ำเย็นจากปรากฏการณ์ IOD คาดอาจเป็นตัวแรกที่จับได้ในทะเลไทย ยันไม่เกี่ยวแผ่นดินไหว

กรณีโลกออนไลน์แชร์ภาพปลา oarfish ปลาน้ำลึกที่ระบุว่าจับได้แถวทะเล จ.สตูล สร้างความฮือฮาในวงการผู้เชี่ยวชาญด้านปลา วันนี้ (4 ม.ค.2567) นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่ากรณีพบปลา oarfish ปลาออร์ หรือปลาริบบิ้นที่ จ.สตูล ตอนนี้ยืนยันแล้ว ภาพจาก Apiradee Napairee ให้น้องๆ ที่กรมประมงไปถ่ายภาพมา 

อาจารย์ธรณ์ ระบุว่า oarfish เป็นปลาน้ำลึก พบได้ทั่วโลก แต่เนื่องจากอยู่น้ำลึก คนจึงไม่คุ้นเคยรูปร่างยังประหลาด บางคนเรียกปลาพญานาค เพราะเคยมีภาพถ่ายทหารอุ้มปลา บอกว่าเป็นแม่น้ำโขง ภาพนั้นเป็นปลาจริง แต่ถ่ายแถวชายฝั่งอเมริกา ไม่ใช่แม่โขง

ในเมืองไทยเท่าที่จำได้ ไม่เคยมีข่าว (ต้องเช็กอีกที) แต่หากถามว่าในโลกหายากขนาดนั้นไหม? คำตอบคือเจอเรื่อยๆ สมัยไปลงเรือสำรวจญี่ปุ่น ลงอวนน้ำลึกก็จับลูกปลา oarfish ได้เช่นกัน

ไขข้อสงสัย เหตุใดเข้ามาทะเลไทย

นอกจากนี้อาจารย์ธรณ์ ยังตั้งข้อสังเกตว่า oarfish แพร่กระจายทั่วโลกที่น่าสงสัยคือเจอที่สตูลได้อย่างไร โดยระบุว่า อันดับแรก จับได้ที่ไหน ตอนนี้ยังไม่ทราบ เอาเป็นว่าแถวอันดามัน ล่าสุดทราบว่าอยู่ระหว่างเกาะลิบง กับเกาะอาดัง ใกล้ฝั่งมากกว่าเกาะรอก ทะเลอันดามันน้ำลึกครับ เฉพาะในไทยลึกสุดก็ 2,000 เมตร อาจมี oarfish อยู่แถว

แต่ปกติไทยไม่จับปลาน้ำลึก ก็เลยไม่ค่อยรู้จักกันอีกอย่างคือช่วงนี้น้ำเย็นเข้าอันดามัน ปรากฏการณ์ IOD มีปลาแปลกๆ เข้ามาตามมวลน้ำเย็น

เมื่อไม่กี่วันก่อน ก็มีโมล่าติดอวน ลูกเรือช่วยกันปล่อยไปแล้ว จึงเป็นไปได้ว่า oarfish ตัวนี้จะเข้ามาตามน้ำ อีกทั้งยังมีขนาดเล็ก (ตัวใหญ่ยาวหลายเมตร ภาพจากอะควอเรี่ยมญี่ปุ่น ที่ผมลงให้ดู ตัวนั้นยาวเกิน 5 เมตร)

เมื่อพิจารณาจากจุดจับได้ เป็นเขตน้ำไม่ลึกมาก คงเป็นปลาวัยรุ่นที่อาจเข้ามาตามมวลน้ำเย็น

เท่าที่ทราบ จับได้โดยเรืออวนล้อมหมายถึงปลาขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปได้ แต่ไม่เกิดขึ้นบ่อยจากข้อมูลต่างๆ พอสรุปได้ว่า ปลาวัยรุ่นตัวนี้คงมากับน้ำเย็น เหมือนกับโมล่าที่ปรกติก็ไม่ค่อยพบในไทย

มหาสมุทรมีปรากฏการณ์แปลกๆ เป็นระยะ แต่ถ้าเรามีข้อมูลเพียงพอ อธิบายได้ ไม่สร้างความตระหนกตกใจ ทราบว่าจะนำมาให้พิพิธภัณฑ์ ถือเป็นเรื่องดีจะได้รู้จักกันมากๆ 

นอกจากนี้ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ยังเตรียมภาพ oarfish ในเวอร์ชั่นสุดน่ารัก ให้คุณพ่อ คุณแม่อธิบายกับน้องๆ พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ แม้บางทีอาจได้ยินว่าเป็นปลาแผ่นดินไหว แต่เป็นการว่ายเข้ามาที่ฝั่ง ไม่ใช่จับมา แม้ว่ายมาฝั่งก็ไม่ใช่ทุกครั้ง อันที่จริง เชื่อว่าเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าจึงไม่ต้องตื่นตระหนกกัน สตูลยังเที่ยวได้ 

ด้านนายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เบื้องต้นทราบข้อมูลดังกล่าวแล้วกำลังให้นักวิชาการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดอีกครั้ง

ภาพปลาออร์ฟช ถ่ายโดย Thon Thamrongnawasawat

ภาพปลาออร์ฟช ถ่ายโดย Thon Thamrongnawasawat

ภาพปลาออร์ฟช ถ่ายโดย Thon Thamrongnawasawat

รู้จัก Oarfish สถิติยาวสุด 11 เมตร 

ขณะรายละเอียดของปลาออร์ฟิช หรือปลาพญานาคนั้น ระบุว่า ปลาพญา นาค ความจริงคือปลาออร์พิซ (Oarfish) เป็นปลาทะเล จัดว่าเป็นปลาน้ำลึก พบได้ในน่านน้ำเขตร้อน เป็นปลากระดูกแข็ง

ปลาออร์พิซ อยู่ในออร์เดอร์ (Order) Lampriformes ชื่อวิทยาศาสตร์  Regalecus glesne พวกมันมีลักษณะ ลำตัวแบนยาว ขนาดใหญ่ ลำตัวสีเงิน มีครีบหลังยาวตั้งแต่หัวจรดหาง โดยเฉพาะด้านหน้าจะยาวเป็นพิเศษ

ปลาออร์ฟิซ ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่บันทึกไว้ใน Guinness Book of World Records มีความยาวถึง 11 เมตร

ชื่อปลานี้ มาจากลักษณะลำตัวที่แบนยาว เนื่องจาก Oar แปลว่ารูปร่างยาว แบนเหมือนแผ่นกระดาน และในสมัยก่อนมีความเชื่อว่า ปลาถูกแรงดันน้ำอันมหาศาล อัดจนร่างกายแบนยาว (เป็นความเชื่อผิดๆ ) และด้วยพฤติกรรม เมื่อใกล้ตายปลาออร์ฟิซ จะขึ้นมาบนผิวน้ำ ทำให้เป็นต้นเหตุของตำนานเกี่ยวกับมังกรทะเล และพญานาค และสัตว์ประหลาด แห่งท้องทะเล มากมาย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง