ศาล รธน.ตัดสิน “พิธา” ไม่พ้น สส. จับตา ”ก้าวไกล” จัดทัพใหม่

การเมือง
24 ม.ค. 67
16:33
302
Logo Thai PBS
ศาล รธน.ตัดสิน “พิธา” ไม่พ้น สส. จับตา ”ก้าวไกล” จัดทัพใหม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สิ้นสุดสถานภาพการเป็น สส.ตามที่ถูกร้อง กรณีถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หลังจากใช้เวลาอ่านประมาณครึ่งชั่วโมง

ท่ามกลางการลุ้นระทึกของทั้งนายพิธา สมาชิกพรรค และ สส.พรรค รวมกระทั่งแฟนคลับ ที่ส่วนหนึ่งไปปักหลักรอให้กำลังใจถึงศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ

สาระสำคัญคือระบุชัดว่า ในวันลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล 4 เมษายน 2566 ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อแล้ว นับตั้งแต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน.ได้บอกยกเลิกสัญญาเมื่อ 7 มี.ค.2550 นายพิธา ผู้ถูกร้องจึงไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้สมาชิกภาพของนายพิธา ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของนายพิธาและพรรคก้าวไกล ซึ่งเตรียมพร้อมในการต่อสู้เพื่อแก้ข้อกล่าวหานี้มาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการจัดเตรียมทีมกฎหมายไว้รับมือ นอกเหนือจากการเดินสายลงพื้นที่พบปะมวลชนต่างจังหวัด เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กับตนเอง

การเตรียมพร้อมดังกล่าว ยังรวมถึงการได้นายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด ไปเป็นหนึ่งในพยานให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายพิธา เมื่อ 20 ธ.ค.2566

นายคิมห์ คือประธานในการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อ 26 เม.ย.2566 ที่ปรากฏอยู่ในคลิปที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านี้ โดยตอบคำถามผู้ถือหุ้นที่ถามว่า ไอทีวี ยังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ โดยตอบว่า

ตอนนี้ บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ส่งผลให้ถูกตีความในอีกด้านหนึ่งว่า เป็นการยอมรับกลายๆ ว่า ไอทีวียังทำกิจการสื่ออยู่

นายคิมห์ ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญคือ ยืนยันว่า ไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีแผนการทำงานสื่อ ที่สำคัญไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับประกอบกิจการโทรทัศน์ หลังจากถูกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยกเลิกสัญญา เมื่อปี 2550

จึงเป็นการเพิ่มน้ำหนักในการสู้ข้อกล่าวหานี้ให้กับนายพิธาโดยตรง นำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 24 มกราคม

แม้นายพิธาและพรรคก้าวไกล จะยังมีคดีถูกร้องเรื่องร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 และยังคงใช้อยู่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัย 31 มกราคมนี้

แต่ในคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อาชีพทนายความ ผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงเสนอให้หยุดการกระทำดังกล่าว ซึ่งบทลงโทษไม่ได้ไปไกลถึงขั้นยุบพรรคก้าวไกล เว้นแต่จะมีคนนำไปต่อยอด หากคำวินิจฉัยมีผลในทางลบ ต่อนายพิธาและพรรคก้าวไกล

หากเป็นไปตามนี้ เท่ากับส่อเค้าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกร้อง และอาจตามมาด้วยการเตรียมจัดทัพใหม่ของพรรคก้าวไกล ซึ่งคาดว่ามีกำหนดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ในราวเดือนเมษายน อยู่ก่อนแล้ว

หลังจากก่อนหน้านี้ นายชัยธวัช ตุลาธน เคยประกาศพร้อมลาออกจากหัวหน้าพรรค เปิดทางการกลับคืนสู่การเป็นผู้นำพรรคอีกครั้งของนายพิธา เมื่อพ้นจากข้อร้องเรียนดังกล่าวแล้ว

และจะส่งผลให้การทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน ในการตรวจสอบรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำสำคัญตามระบบรัฐสภา เข้มข้นและสมน้ำสมเนื้อมากยิ่งขึ้น

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง