กสม.ออกแถลงการณ์ห่วงใยเสรีภาพสื่อ กรณีจับกุมนักข่าว-ช่างภาพ

การเมือง
14 ก.พ. 67
14:44
197
Logo Thai PBS
กสม.ออกแถลงการณ์ห่วงใยเสรีภาพสื่อ กรณีจับกุมนักข่าว-ช่างภาพ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กสม.ออกแถลงการณ์ ห่วงใยเสรีภาพของสื่อมวลชน กรณีตำรวจจับกุมนักข่าว-ช่างภาพ ที่ไปทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีรั้ววัดพระแก้ว

วันนี้ (14 ก.พ.2567) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง ความห่วงใยเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชนกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ระบุว่า

จากกรณีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ และช่างภาพ ถูกจับกุมตามหมายจับในฐานความผิดให้การสนับสนุนในการทำให้โบราณสถานเสียหายตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

อ่านข่าว : 2567 คืนสู่ยุคจำกัดเสรีภาพสื่อ?

จากการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวนักกิจกรรมทางการเมืองพ่นสีบนกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566 ซึ่งต่อมาได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนโดยใช้หลักทรัพย์เป็นประกันนั้น

กสม.ขอเน้นย้ำและยืนยันในหลักเสรีภาพของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองและให้ความคุ้มครอง ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

อ่านข่าว : ลูกนักการเมืองมอบตัว-ปฏิเสธทุกข้อหาคดีอนาจารฯ หญิงวัย 25

จากการติดตามสถานการณ์เสรีภาพของสื่อมวลชน ในปี 2566 พบว่า สื่อมวลชนยังคงถูกคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย หรือดำเนินคดีในฐานต่าง ๆ ซึ่งรัฐต้องให้การคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก การรับและส่งต่อข้อมูลใด ๆ โดยอาจจำกัดเสรีภาพดังกล่าวได้ตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 34 ของคณะกรรมการประจำกติกา ICCPR ย้ำว่า การออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพดังกล่าว ต้องมีความสมดุลกับการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการรับและส่งต่อข้อมูล รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อจำกัดเสรีภาพดังกล่าวยังต้องมีความจำเป็นและได้สัดส่วนตามกฎหมาย โดยไม่กระทบสาระสำคัญของการทำหน้าที่สื่อมวลชน

อ่านข่าว : ทนายยื่นค้านฝากขัง "ตะวัน-แฟรงค์" คุมเข้มศาลอาญา

นอกจากนี้ ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคล รัฐมีหน้าที่ที่ต้องรับประกันสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา ที่จะต้องได้รับทราบข้อกล่าวหา และได้รับการพิจารณาคดีโดยพลัน โดยมิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่า จะต้องควบคุมบุคคลในระหว่างการพิจารณาคดี ทั้งยังต้องมีสิทธิในการได้รับการประกันตัวตามหลักสันนิษฐานว่า บุคคลทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) ด้วย

กสม.เห็นว่า รัฐบาลโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำชับ ผู้บังคับใช้กฎหมายให้เคารพต่อการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน การจำกัดหรือระงับเสรีภาพไม่ว่าด้วยวิธีการใด จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการตั้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี ต้องไม่สร้างข้อจำกัดหรือก่อให้เกิดความหวาดวิตก ในการนำเสนอข่าวต่อสาธารณะและประชาชน

ซึ่งต้องมีความเป็นอิสระ หลากหลาย และเป็นสิ่งจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง