วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ได้รับสารพิษ "จากการสูดดม"

ไลฟ์สไตล์
23 เม.ย. 67
11:36
86
Logo Thai PBS
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ได้รับสารพิษ "จากการสูดดม"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ควันพิษที่เกิดจากการเผาไหม้สารเคมี มีอันตรายต่อร่างกายมาก หากอยู่ในพื้นที่ไฟไหม้ที่มีควันพิษ ให้รีบออกจากจุดเกิดเหตุด่วน ไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

"สารพิษ" 

สารเคมีที่มีสภาพเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ เมื่อเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะทางการรับประทาน ฉีด หายใจ หรือสัมผัสทางผิวหนังแล้วเกิดเป็นพิษ ทำให้เกิดอันตรายต่อโครงสร้างและหน้าที่ของร่างกาย โดยที่อันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ คุณสมบัติ ปริมาณ และทางที่ได้รับสารพิษนั้น

การได้รับสารพิษเป็น "ภาวะฉุกเฉิน" ที่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลที่รีบด่วนและเฉพาะเจาะจง สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องประเมินอาการและจำแนกให้ได้ว่า อาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเกิดจากสารพิษใด และต้องสังเกตสภาพการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยร่วมด้วย อาการที่ได้รับสารพิษ ได้แก่

  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง น้ำลายฟูมปาก หรือ มีรอยไหม้นอกบริเวณริมฝีปาก มีกลิ่นสารเคมีบริเวณปาก
  • เพ้อ ชัก หมดสติ มีอาการอัมพาตบางส่วน ช่องม่านตาผิดปกติ อาจหดหรือขยาย
  • หายใจขัด หายใจลำบาก มีเสมหะมาก มีอาการเขียวปลายมือปลายเท้า หรือบริเวณริมฝีปาก ลมหายใจมีกลิ่นสารเคมี
  • ตัวเย็น เหงื่อออกมาก มีผื่นหรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง
  • สภาพการณ์หรือสิ่งแวดล้อมบ่งชี้ถึงภาวะการได้รับสารพิษ
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

อ่านข่าว : จ่อประกาศ 2 ตำบลพื้นที่ประสบสาธารณภัย ไฟไหม้ "วิน โพรเสส"

3 ประเภท "ก๊าซพิษ" ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ 

  1. ก๊าซที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ถึงแก่ความตายได้ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ปัจจุบันพบว่าก๊าซที่ทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างบ่อย ได้แก่ คาร์บอนมอนนอกไซด์ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง อากาศเป็นพิษ

    คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อหายใจเข้าไปในร่างกาย ก๊าซนี้จะแย่งที่กับออกซิเจนในการจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ ร่างกายจึงมีอาการของการขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าช่วยเหลือไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในรถยนต์

  2. ก๊าซที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คอ หลอดลม และปอด ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ตายได้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่มีสีแต่มีกลิ่นฉุน พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ทำกรดกำมะถัน

  3. ก๊าซที่ทำให้อันตรายทั่วร่างกาย ได้แก่ ก๊าซอาร์ซีน ไม่มีสีกลิ่นคล้ายกระเทียม พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรมใช้ทำแบตเตอรี่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง

อ่านข่าว : 20 ชั่วโมงไฟไหม้โกดังเก็บสารเคมีระยอง ยังคุมเพลิงไม่ได้ 100%

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วย

  1. กลั้นหายใจรีบออกไปบริเวณที่อากาศถ่ายเท 
  2. นำผู้ป่วยออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปยังที่มีอากาศบริสุทธิ์
  3. หากผู้ป่วยหมดสติ ร่วมกับไม่หายใจ หายใจเฮือก หรือไม่แน่ใจว่าหายใจหรือไม่ ให้โทร 1669 และทำ CPR
  4. นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

อ่านข่าว : เชื้อเพลิง 3 หมื่นถัง ขยายรัศมี 1 กม.อพยพหนีไฟไหม้ "วิน โพรเสส"

การดูแลตัวเองเมื่อประสบอุบัติภัยสารเคมี

  1. ถ้าอยู่ในที่เกิดเหตุ ห้ามระงับเหตุด้วยตนเอง 
  2. โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาระงับเหตุ โดยให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุ ประเภทสารเคมี
  3. เมื่อออกมาจากจุดเกิดเหตุ ให้เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดตัวเอง
  4. สวมหน้ากากอนามัยหรือผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก เพื่อลดการสูดดมควันพิษเข้าสู่ร่างกาย
  5. ออกห่างจากจุดเกิดเหตุไปทางด้านเหนือลม หากอาศัยอยู่ในรัศมี 1-3 กิโลเมตรของเพลิงไหม้ ควรอพยพออกนอกพื้นที่
  6. หากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ให้หลบในที่อยู่อาศัยและใช้นำผ้าชุบน้ำปิดกั้นตามขอบหน้าต่างและประตู เพื่อป้องกันสารระเหยเข้ามาด้านใน
  7. ไม่ควรรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำในบริเวณที่เกิดเหตุ
ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ที่มา : สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์ฯ, กรมการแพทย์ทหารเรือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง