กยศ. แจงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา งบฯ 2554 ขอกู้แล้ว 1 ล้านรายอนุมัติให้ 8.9 แสนคน

สังคม
28 ก.ย. 54
07:06
12
Logo Thai PBS
กยศ. แจงกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา งบฯ 2554 ขอกู้แล้ว 1 ล้านรายอนุมัติให้ 8.9 แสนคน

กยศ.แถลงผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2554 นักเรียน นักศึกษาขอกู้ยืม 1 ล้านราย ได้รับสิทธิ์กู้ยืม 8.9 แสนราย มีผู้มาติดต่อชำระเงินคืน 76.37% สรุปนโยบายหนุนการเรียนสายอาชีพ สายวิทยาศาสตร์ และคุณภาพสถานศึกษา

ายเสริมเกียรติ  ทัศนสุวรรณ รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2554 ว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เริ่มดำเนินการให้กู้ยืมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2541 โดยเป็นทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่มาจากครอบครัว  ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้กู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา จนถึงปริญญาตรี โดยให้ผ่อนชำระเงินคืนภายหลังจากสำเร็จหรือเลิกการศึกษาแล้วด้วยดอกเบี้ยอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งเงินที่ได้รับชำระคืนดังกล่าวจะนำกลับไปหมุนเวียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป
ผลการกู้ยืม
 
ปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและสำเร็จการศึกษาแล้วจำนวนกว่า 3.9 ล้านราย  รวมเป็นงบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กู้ยืมทั้งสิ้น 42,712 ล้านบาท มีเป้าหมายให้กู้ยืมสำหรับนักเรียน นักศึกษา จำนวน 981,712 ราย ผลปรากฏว่ามีผู้ที่ยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมผ่านระบบ e-Studentloan จำนวนทั้งสิ้น 1,053,078 ราย โดยสถานศึกษาได้คัดเลือกผู้มีสิทธิกู้ยืมจำนวน 892,159 ราย แบ่งเป็นผู้กู้ยืมรายเก่า 622,354 ราย และผู้กู้ยืม     รายใหม่ 269,805 ราย หรือแบ่งตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 187,675 ราย ระดับ ปวช. 114,484 ราย ระดับ ปวท./ปวส. 108,202 ราย และระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรี 481,798 ราย โดยในภาคเรียนที่ 1/2554 ได้มีการบันทึกกรอบวงเงินกู้ยืมเพื่อโอนเงินค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนให้แก่ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาแล้วราว 2 หมื่นล้านบาท

ผลการชำระเงินคืน  ขณะนี้ มีผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาและครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,461,999 ราย  รวมเป็นเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 46,617 ล้านบาท ผลปรากฎว่าปัจจุบันมีผู้กู้ยืมมาติดต่อชำระเงินคืนแล้วจำนวน 1,880,483 ราย หรือคิดเป็น 76.37% ของผู้ที่ครบกำหนดชำระเงินคืน แบ่งเป็นผู้กู้ยืมที่ชำระมากกว่าเกณฑ์ 168,468 ราย ชำระตามเกณฑ์ 477,941 ราย  ชำระบางส่วน 1,234,074 ราย และหนี้สูญ (เสียชีวิต) 22,339 ราย รวมเป็นเงินที่ได้รับชำระคืนทั้งสิ้น 24,989.46 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.7%

ในปี 2554  กองทุนฯ ได้มีนโยบายสนับสนุนการกู้ยืมในสาขาวิชาที่จบแล้วมีงานทำ หรือสาขาวิชาที่ขาดแคลนซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากตลาดแรงงานมีความต้องการผู้ที่เรียนในสายอาชีพและสายวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยกองทุนฯ ได้เพิ่มเงินกู้ยืมค่าครองชีพให้แก่ผู้เรียนระดับ ปวช. จากเดิมเดือนละ 1,375 บาท เพิ่มเป็น 2,200 บาท หรือ 26,400 บาทต่อปี และได้เพิ่มเพดานการกู้ยืมค่าเล่าเรียนบางสาขาวิชาของระดับอุดมศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับ ต้นทุนการศึกษาจริง ได้แก่ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ จากเดิม 60,000 บาท เพิ่มเป็น 70,000 บาทต่อปี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ จากเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 90,000 บาทต่อปี สาขาแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ จากเดิม 150,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 บาทต่อปี

กองทุนฯ ยังได้มีนโยบายกระตุ้นให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น โดยนำผลประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษามาเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรจำนวนผู้กู้ยืมรายใหม่ เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ แทนการเน้นรับนักศึกษาเชิงปริมาณอย่างเดียว ซึ่งกองทุนฯ ได้ปรับเกณฑ์     การจัดสรรสำหรับสถานศึกษาระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา โดยพิจารณาคุณภาพการจัดการการศึกษาจากเดิม 5% เพิ่มขึ้นเป็น 10%  และในส่วนของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพิ่มการพิจารณาในเรื่องคุณภาพการจัดการการศึกษาเป็น 20% จากเดิมที่ไม่เคยใช้เกณฑ์คุณภาพการจัดการการศึกษาเลย

กรณีหลักสูตรสาขาวิชาชีพของสถานศึกษาบางแห่งที่ไม่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ  ทำให้นักศึกษาประสบปัญหาไม่ได้สิทธิเข้าสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  กองทุนฯ ยังได้มีมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปแก่กลุ่มนักศึกษาผู้กู้ยืมที่ได้รับความเดือดร้อน โดยขยายโอกาสให้ผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. เต็มจำนวนตามหลักสูตรปกติแล้ว สามารถกู้ยืมเงินเพื่อศึกษาต่อเพิ่มเติมในสถานศึกษาอื่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสภาวิชาชีพจนจบหลักสูตร 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง