เผยภัยพิบัติน้ำท่วม ทำทารก-เด็กเล็ก เสี่ยงท้องร่วงรุนแรง จากอาหาร-น้ำไม่สะอาด

สังคม
18 ต.ค. 54
12:55
22
Logo Thai PBS
เผยภัยพิบัติน้ำท่วม ทำทารก-เด็กเล็ก เสี่ยงท้องร่วงรุนแรง จากอาหาร-น้ำไม่สะอาด

ชี้ “นมแม่” ดีที่สุด ปลอดภัย สารอาหารครบ แถมมีภูมิต้านทานโรค ย้ำให้นมแม่ต่อเนื่องกระตุ้นร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้น

พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะรองประธานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ในภาวะฉุกเฉิน เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ ทารกและเด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดอาหาร เจ็บป่วย และการเสียชีวิต ดังนั้นในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ นมแม่จึงเป็นอาหารที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก เพราะในภาวะฉุกเฉินย่อมไม่สามารถหานม หรืออาหารอื่นๆ ให้ทารกได้ ต้องขอย้ำว่า หากลูกยังกินนมแม่อยู่ขอให้คุณแม่ยังคงให้นมแม่ต่อไป เพราะนมแม่เป็นนมสะอาดจากเต้าสามารถกินได้ตลอดเวลา และไม่ควรให้ลูกกินนมแม่สลับกับนมผง เพราะในภาวะน้ำท่วมอาจหาน้ำสะอาดมาชงนม รวมถึงล้างทำความสะอาดขวดนมทำได้ยากลำบาก ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการได้นมที่ไม่สะอาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือ ท้องเสีย การให้นมแม่จึงเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยที่สุด ช่วยให้เด็กปลอดภัยจากการติดเชื้อ ภาวะท้องร่วง และป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าทารกที่กินนมผสมอยู่แล้ว ศูนย์ช่วยเหลือต้องหาพื้นที่ให้แม่ได้พักผ่อน และอำนวยความสะดวกเรื่องอุปกรณ์สำหรับชงนม เช่น น้ำสะอาด แก๊สหุงต้ม ภาชนะต้มน้ำ การล้างภาชนะ เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ “เพื่อให้เด็กได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ จึงควรดูแลจัดอาหารและน้ำสะอาดให้แม่ที่ให้นมลูกได้รับประทานอย่างเพียงพอ ในภาวะน้ำท่วมอาจทำให้คุณแม่ลูกอ่อนทานอาหารไม่ครบทุกมื้อ แต่หากขาดอาหารไม่มาก น้ำนมจะยังคงมีคุณภาพดี แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้แม่ขาดอาหารติดต่อหลายมื้อ แม่สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอตราบเท่าที่ลูกได้ดูดนมจากเต้า การดูดนมของลูกจะกระตุ้นวงจรสร้างน้ำนมให้ทำงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม หากมีคุณแม่ท้องแก่คลอดลูกในภาวะฉุกเฉินอย่างนี้ ต้องยิ่งให้ลูกกินนมแม่ เพราะทารกยิ่งเล็กยิ่งบอบบางเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังเกิด ไม่แยกแม่แยกลูก ให้เขาอยู่คลอเคลียกันจะช่วยกระตุ้นให้น้ำนมมาเร็วขึ้น” พญ.ศิราภรณ์ กล่าว

พญ.ศิราภรณ์ กล่าวต่อว่า ภาวะวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้คุณแม่ลูกอ่อนเกิดความเครียดได้ ดังนั้นการดูแลแม่เป็นอย่างดีจะช่วยลดปัญหาความตึงเครียดส่งผลให้น้ำนมมาดี แม่มีกำลังใจในการดูแลลูกในระยะวิกฤตได้ และควรสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยจัดสถานที่ให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกันในบรรยากาศที่สงบเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น บริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด เต๊นท์สำหรับแม่และทารก เป็นต้น แม่ที่โอบกอดลูก ให้นมลูก จะรู้สึกผ่อนคลาย มีกำลังใจผจญกับภาวะฉุกเฉินมากขึ้น ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามปัญหา หรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการให้นมแม่ การให้อาหารทารกในระยะน้ำท่วมได้ที่คลินิกนมแม่ใกล้บ้าน หรือที่คลีนิกนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 081-6278008 ตลอด 24 ชั่วโมง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง