สภาทนายความแฉ ศูนย์พักพิงหลายแห่งของรัฐและเอกชนไม่ยอมรับผู้อพยพแรงงานข้ามชาติ

สังคม
23 ต.ค. 54
07:24
8
Logo Thai PBS
สภาทนายความแฉ ศูนย์พักพิงหลายแห่งของรัฐและเอกชนไม่ยอมรับผู้อพยพแรงงานข้ามชาติ

ย้ำบางแห่งถึงกับเขียนป้ายรับเฉพาะคนไทย ชี้แม้กระทั่งศูนย์อพยพที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะยังปฏิเสธเตือนแรงงานเหล่านี้ก็เป็นคนมีศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์เทียบเท่ากับคนไทย ร่อนแถลงการณ์ 5 ข้อให้เรียกร้องให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่นสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะศปภ. ดูแลแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทยและต้องอพยพหนีภัยความตายจากน้ำท่วม  โดยนายสุรพงษ์ กองจันถึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่นสภาทนายความระบุถึงการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ว่า จากสถานการณ์วิกฤตอุทกภัยที่กำลังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในผู้อพยพนั้นก็จะมีแรงงานข้ามชาติ และด้วยปัญหาการสื่อสารทางภาษา ความหวาดกลัว  ทำให้แรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทย กับประชาชนไทย หรือหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้ ส่งผลให้ผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติเหล่านั้นได้รับความเดือดร้อนเป็นเท่าทวีคูณ                

ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่นสภาทนายความกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเป็นที่น่ายินดีว่ามีหลายภาคส่วนได้พยายามช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ แก่ทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ เชื้อชาติ ความแตกต่างทางภาษา หรือสถานะทางกฎหมาย แต่ก็ยังมีหลายภาคส่วนเช่นกันที่ยังกังวลและตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายในการเข้ามาและอยู่อาศัยในประเทศไทย หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยหากให้ความช่วยเหลือหรือให้ที่พักพิงแก่แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่ประสบอุทกภัยเหล่านั้น ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามไม่สามารถเข้าถึงหรือได้รับความช่วยเหลือทางปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นแก่การดำรงชีพตามความเหมาะสม  รวมทั้งได้รับการปฏิเสธจากที่พักพิง ทั้งที่หน่วยงานรัฐและเอกชนจัดตั้งขึ้น โดยกรณีล่าสุด ศูนย์พักพิงผู้อพยพที่ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะได้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานข้ามชาติที่อพยพหนีภัยน้ำท่วม                

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ด้วยปัญหาดังกล่าว คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ตระหนักและเล็งเห็นว่า การชี้แจงและทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน ราษฏรไทยและองค์กรทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เพื่อคลายข้อกังวล ลดปัญหา และเสริมสร้างความเข้าใจดังต่อไปนี้

1.แรงงานข้ามชาติทุกคนถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยดังนั้น ดังนั้นทุกหน่วยงานจำเป็นต้องให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมแก่ทุกคนโดยเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสัญชาติ เชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม หรือสถานะทางกฎหมาย  ซึ่งมีหลักกฎหมายระหว่างประเทศ สนธิสัญญา อนุสัญญาระหว่างประเทศจำนวนมาที่ไทยลงนาม และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ให้การรับรอง

2.การช่วยเหลือ ให้ที่พักพิง ซึ่งอาจเป็นบ้านส่วนตัว โรงแรม ที่พักฉุกเฉิน สถานที่ราชการ หรือเอกชน หรือสถานที่ใด ๆ แก่แรงงานต่างด้าวหรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว มิอาจถือว่าเจ้าของบ้าน  โรงแรม ผู้ที่รับผิดชอบดูแลที่พักฉุกเฉิน สถานที่ราชการหรือเอกชนหรือสถานที่ใด ๆ เหล่านั้น ได้กระทำผิดพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๖๔

3.ช่วงวิกฤตอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันในหลายพื้นที่ ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมากไม่มีเอกสารใดๆ พกติดตัว เช่น ใบอนุญาตทำงาน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ฯลฯ เนื่องจากสูญหาย หรือไม่สามารถนำออกมาจากที่พักได้ หรือนายจ้างอาจยึดถือไว้ จึงขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานต่างด้าวหรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว โดยไม่ควรคำนึงถึงเอกสารใบอนุญาต หรือบัตรต่าง ๆ เหล่านั้น                 

4.นายจ้างที่ยึดใบอนุญาตทำงาน หนังสือเดินทางหรือบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย ฯลฯ ของแรงงานต่างด้าวไว้  ขอความร่วมมือจากนายจ้าง ให้ส่งมอบคืนบัตรหรือเอกสารประจำตัวบุคคลเหล่านั้นแก่แรงงานต่างด้าว  เนื่องจากการยึดบัตรหรือเอกสารประจำตัวของบุคคลอื่นอาจมีความผิดตามกฎหมาย 5.การให้ความช่วยเหลือ เยียวยา และมาตรการคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานต่างด้าว ในฐานะแรงงานตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ และกฎหมายอื่นๆ ภาครัฐ เอกชน และนายจ้าง ต้องช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง