เศรษฐกิจไทยกันยายนชะลอตัว...แต่คาดผลกระทบจากน้ำท่วม จะชัดขึ้นในเครื่องชี้เดือนต.ค.-พ.ย

31 ต.ค. 54
16:11
5
Logo Thai PBS
เศรษฐกิจไทยกันยายนชะลอตัว...แต่คาดผลกระทบจากน้ำท่วม จะชัดขึ้นในเครื่องชี้เดือนต.ค.-พ.ย

ภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน 2554 กลับมาสะท้อนภาพในเชิงลบอีกครั้ง ทั้งในส่วนของภาคการผลิต การใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออก โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจบางรายการเริ่มได้รับแรงกดดันจากผลกระทบน้ำท่วมบ้างแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบน้ำท่วมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย จะกระจายเป็นวงกว้างและให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 ที่พื้นที่ในเขตต่างๆ ของกรุงเทพฯ ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการเดิมที่มองว่า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะหดตัวลงมากถึงร้อยละ 3.3-6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ซึ่งจะส่งกระทบต่อภาพรวมทั้งปี 2554 ให้ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่กรอบประมาณร้อยละ 0.9-1.7 ตามระดับความรุนแรงของภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุด และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554 มีดังนี้ :-

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนกันยายน...สัญญาณชะลอตัวปรากฎขึ้นอีกครั้ง

เครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายในประเทศ : การลงทุนและการบริโภค หดตัวลงจากเดือนก่อน
การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนแผ่วลง โดยการบริโภคและการลงทุนพลิกกลับมาหดตัวลงอีกครั้งในเดือนกันยายน 2554 ที่ร้อยละ1.6 และร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สอดคล้องกับการถดถอยลงของความเชื่อมั่นภาคเอกชน ทั้งในส่วนของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 81.8 และ 48.5 จาก 83.4 และ 52.2 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ
และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.0 (YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 5.4 (YoY) ในเดือนสิงหาคม ขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตร้อยละ 8.5 (YoY) ในเดือนกันยายน ซึ่งเท่ากับในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดี รายละเอียดของเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายในประเทศบางรายการ เริ่มสะท้อนสัญญาณอ่อนแออีกครั้ง โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านการบริโภค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ปริมาณการใช้น้ำมัน และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากภาวะน้ำท่วมได้เริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางในบางจังหวัด ขณะที่ สัญญาณชะลอตัวเริ่มปรากฎขึ้นบางส่วนในเครื่องชี้ด้านการลงทุนเช่นกัน อาทิ การนำเข้าสินค้าทุน และยอดขายปูนซีเมนต์

เครื่องชี้ภาคการผลิตชะลอลงอีกครั้งหลังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและน้ำท่วมในไทย
การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณชะลอลง จากข้อมูลเบื้องต้น การผลิตในหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และหมวดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ หดตัวลงในเดือนกันยายน ตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ การผลิตในหมวดอื่นๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และยานยนต์ยังขยายตัวได้ดี (เนื่องจากภาวะน้ำท่วมเริ่มรุนแรงขึ้นในเดือนตุลาคม 2554)
ผลผลิตภาคเกษตรกรรมชะลอตัว...แต่ได้อานิสงส์ด้านราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 (YoY) ในเดือนกันยายน ชะลอลงจากร้อยละ 3.7 (YoY) ในเดือนสิงหาคม นำโดย การหดตัวของผลผลิตข้าวนาปรังจากผลของการรณรงค์งดปลูกข้าวนาปรังรอบสอง อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมเริ่มขยับสูงขึ้น โดยปรับตัวขึ้นร้อยละ 9.4 (YoY) ในเดือนกันยายน จากร้อยละ 8.9 (YoY) ในเดือนสิงหาคม

เครื่องชี้ภาคต่างประเทศ...การส่งออก-การนำเข้าหดตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ รายรับจากการท่องเที่ยวยังคงลดลงต่อเนื่อง

การส่งออก ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 3.8 (MoM) และชะลอการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน มาที่ร้อยละ 18.4 (YoY) ในเดือนกันยายน จากร้อยละ 28.4 (YoY) ในเดือนสิงหาคม โดยปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลงในอัตราที่ค่อนข้างมากในเกือบทุกหมวด ตามภาวะอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย (ที่มีผลต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องนุ่งห่ม) และการลดการส่งออกข้าว (จากการที่โรงสีชะลอการขายข้าวก่อนเริ่มโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล) ส่วนในด้านการนำเข้านั้น หดตัวลงร้อยละ 2.5 (MoM) และขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 42.6 (YoY) ในเดือนกันยายน จากร้อยละ 45.9 ในเดือนสิงหาคม

การท่องเที่ยวมีทิศทางซบเซา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวลงร้อยละ 1.6 (MoM) และชะลอการเติบโตมาอยู่ที่ร้อยละ 23.5 (YoY) ในเดือนกันยายน จากร้อยละ 35.7 (YoY) ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการตัดสินใจมาเดินทางท่องเที่ยวในไทย หลังจากที่ภาวะอุทกภัยเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเหนือและภาคกลางบางส่วน

ดุลการค้าเกินดุลที่เพิ่มขึ้นหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกกลับมาเกินดุล มูลค่าการส่งออกที่ยังคงขยับขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลทำให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลเพิ่มขึ้นมาที่ 2.42 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน จากที่เกินดุลเพียง 0.70 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ดี ยอดขาดดุลบัญชีรายได้และเงินโอน ที่เพิ่มขึ้นมาที่ 2.01 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน (ตามการลดลงของรายรับจากการท่องเที่ยว) ทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพียง 0.40 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนกันยายน แต่ก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับยอดขาดดุล 0.70 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนสิงหาคม

 แม้ภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2554 จะยังคงไม่สะท้อนภาพในเชิงลบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไปในวงกว้าง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบจากภาวะอุทกภัยครั้งร้ายแรงในรอบหลายทศวรรษของไทย จะเพิ่มแรงกดดันในวงกว้างและให้ภาพชัดเจนมากขึ้นในเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2554 (ที่มวลน้ำเริ่มรุกคืบเข้าสู่กรุงเทพฯ) ก่อนที่ทิศทางการฟื้นตัวจะเริ่มขึ้นบางภาคส่วน โดยเฉพาะเครื่องชี้ด้านการบริโภคและกิจกรรมก่อสร้าง ในเดือนธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประเทศหลังระดับน้ำท่วมเริ่มลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียโมเมนตัมการขยายตัวอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 4/2554 โดยอัตราการหดตัวของจีดีพีน่าที่จะอยู่ในกรอบร้อยละ 3.3-6.3 (YoY) เทียบกับประมาณการเดิมก่อนช่วงน้ำท่วมที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.9 (YoY) โดยระดับความรุนแรงของการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับ 2 สมมติฐาน คือ กรณีพื้นฐานที่ ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยประมาณ 50 ซม. (30-150 ซม.) กินเวลาประมาณ 1 เดือน และกรณีเลวร้ายที่ระดับน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ มีค่าเฉลี่ยที่สูงขึ้นเป็น 80 ซม. และกินเวลานานมากขึ้นเป็น 1 เดือนครึ่ง

จากการที่ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ และภาวะความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่างประเทศ เป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญค่อนข้างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ในกรณีพื้นฐานว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีปี 2554 น่าที่จะชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และมีโอกาสชะลอลงรุนแรงมาที่ร้อยละ 0.9 ในกรณีเลวร้าย

สำหรับประเด็นที่จะต่อเนื่องผูกพันไปยังแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2555 นั้น ก็คือ แผนการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด ทั้งในส่วนที่กระตุ้นโดยตรงจากโครงการภาครัฐ และมาตรการส่วนอื่นๆ ที่สนับสนุนและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการทันที เพื่อกระตุ้นโมเมนตัมการใช้จ่ายในประเทศกลับมา ช่วยชดเชยผลกระทบที่ไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกในช่วงปีข้างหน้า
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง