ตลาดค้าศิลปะในจีนกับปัญหาของปลอม

Logo Thai PBS
ตลาดค้าศิลปะในจีนกับปัญหาของปลอม

เอ่ยถึงสินค้าปลอมแปลงลอกเลียนแบบ เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกถึงของที่มาจากประเทศจีน ความไม่น่าเชื่อถือนี้ยังรวมไปถึงการประมูลงานศิลปะ ซึ่งกระทบตลาดการค้างานศิลปะในจีนที่กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ช่วงปีที่ผ่านมา

หากมองผิวเผิน ตลาดพันเจียหยวน แหล่งรวมของเก่าใจกลางกรุงปักกิ่งคงไม่ต่างจากสวรรค์ของนักช็อป แม้ความจริงแล้ว งานศิลปะและโบราณวัตถุนับหมื่นชิ้นเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงขึ้นมาทั้งสิ้น เพียงผู้ซื้อจ่ายเพิ่มอีก 35 ดอลลาร์ ก็จะได้ใบรับประกันที่ถูกปลอมขึ้นมาอีกทีเป็นของแถม ซึ่งขบวนการปลอมแปลงไม่จบสิ้นในตลาดมือสองเช่นนี้ กำลังบ่อนทำลายธุรกิจการประมูลศิลปะและโบราณวัตถุของจีนที่กำลังเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

จีนกลายเป็นตลาดค้าศิลปะอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ด้วยเงินหมุนเวียนกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ โดย 1 ใน 3 ของการซื้อขายผลงานวิจิตรศิลป์เมื่อปีที่แล้วเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งงานประมูลช่วงฤดูใบไม้ร่วงของ China Guardian บริษัทประมูลชั้นนำของจีน สามารถทำเงินได้เกือบ 600 ล้านดอลลาร์ภายใน 5 วันของการจัดงาน โดยนาย เกาฉิน รองประธานของ China Guardian เผยว่านักลงทุนในปัจจุบันหลีกหนีความเสี่ยงในตลาดหุ้นและการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ มาเก็งกำไรกับการค้างานศิลปะซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่า

แม้ธุรกิจการประมูลงานศิลปะจะเติบโตในจีนได้ 25 ปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ความน่าเชื่อถือของการค้าขายงานศิลป์ในจีนกลับถูกบั่นทอนด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งปัญหาการปลอมแปลงงานศิลปะ, การโก่งราคาผลงานเพื่อหวังกำไรโดยบริษัทประมูล และการขาดความโปร่งใสในการระบุความเป็นเจ้าของผลงานที่แท้จริง

นักวิเคราะห์มองว่าการไม่มีกฎหมายบังคับให้บริษัทประมูลยืนยันความน่าเชื่อถือของผลงานก่อนออกประมูล สร้างช่องโหว่ให้กับบริษัทประมูลสามารถค้าขายได้อย่างเสรี ซึ่ง ลิว เหวินเชีย นักสะสมและผู้เชี่ยวชาญศิลปวัตถุ กล่าวว่า จีนจำเป็นต้องมีมาตรการตรวจสอบการประมูลงานศิลปะในประเทศให้เง้มงวด เพราะว่าสิ่งนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้รักงานศิลปะ และส่งเสริมตลาดการค้างานศิลปะของจีนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง