เปิดการสัมมนา"สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตปี 2554"

สังคม
15 ธ.ค. 54
04:20
12
Logo Thai PBS
เปิดการสัมมนา"สถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตปี 2554"

โครงการมาย คอมพิวเตอร์ ลอว์ เปิดสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตประเทศไทย ประจำปี 2554 พบประชาชน 60% เห็นว่าไม่ควรปิดกั้นเว็บโป๊ แต่ควรมีมาตรการเฉพาะควบคุมดูแล พร้อมทั้งสัมมนาสาธารณะเรื่อง "บทบาทสังคมออนไลน์ในวิกฤตน้ำท่วม"

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึงสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตประเทศไทย ประจำปี 2554 ที่จัดทำโดย โครงการมาย คอมพิวเตอร์ ลอว์ (My Computer Law) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ เครือข่ายพลเมืองเน็ต,โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์ เนชั่นแนล ประเทศไทย เกี่ยวกับนโยบายอินเทอร์เน็ต ในช่วงเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม 2554 จำนวน 1,700 คน ปรากฎว่าประชาชน 60% เห็นว่าไม่ควรปิดกั้นเว็บโป๊ และควรมีมาตรการเฉพาะควบคุมดูแล เช่น กำหนดห้ามเฉพาะภาพโป๊ของเด็กและเยาวชน หรือมีคำแนะนำเรื่องอายุของผู้ชมเว็บไซต์ที่เหมาะสม

มีผลสำรวจทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับ กติกาในโลกออนไลน์ที่เห็นว่า ไม่ควรบล็อกเว็บโป๊ แต่ควรไปจัดการเนื้อหาในอินเทอร์เน็ต ประเภทหมิ่นประมาทบุคคลและการเขียนข้อความยุยงให้เกิดความรุนแรง ควรให้มีการเซ็นเซอร์ พร้อมสรุปสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาว่า สื่อสังคมออนไลน์ มีบทบาทอย่างมากในการส่งต่อข้อมูล การรับรู้ข่าวสาร แต่ควรตรวจสอบข้อมูลก่อนเชื่อสิ่งที่อยู่ในสื่อด้วย

ขณะที่เนื้อหา 3 อันดับแรกที่ประชาชนเห็นว่า ควรถูกเซ็นเซอร์ในอินเทอร์เน็ตคือ ข้อความการหมิ่นประมาทบุคคล,ข้อความที่ยุยงให้คนใช้ความรุนแรงต่อกัน และข้อความที่ว่ากล่าวบุคคลด้วยคำหยาบคาย ขณะที่เนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดี อยู่ในอันดับรั้งท้ายของข้อมูลที่ประชาชนกลุ่มสำรวจเห็นว่า ควรปิดกั้นในอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ มีประชาชนอีกกลุ่มที่เห็นว่า ไม่ควร เซ็นเซอร์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ตเลยโดยให้เหตุผลว่า ควรปล่อยให้ประชาชนใช้วิจารณญาณ คัดกรองข่าวสารด้วยตัวเอง

พร้อมทั้งสัมมนาสาธารณะเรื่อง "บทบาทสังคมออนไลน์ในวิกฤตน้ำท่วม" ที่มีตัวแทนทีมงานของสื่อออนไลน์จากหลายแห่งเข้าร่วม โดยพูดถึงความสำคัญของการใช้สื่อออนไลน์ในวิกฤตครั้งนี้ว่า มีบทบาทอย่างมากในการจุดประเด็น ส่งต่อข้อมูล ระดมจิตอาสา และเงินทุน รวมถึงความช่วยเหลือต่างๆให้กับผู้ประสบอุทกภัย หลังสื่อกระแสหลักมีพื้นที่และเวลาที่จำกัด ไม่สามารถนำเสนอความเดือดร้อนหรือข้อเท็จจริงได้ทุกพื้นที่ แต่หลายฝ่ายต่างก็เห็นตรงกันว่า ก่อนที่จะเชื่อข้อมูลจำนวนมาก ที่มีการส่งต่อกันไปมาผ่านสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านเสียก่อนและยังเห็นตรงกันอีกว่า ในโลกของสังคมสื่อออนไลน์ที่ทุกคนมีสิทธิในการสื่อสารเท่าเทียมกัน ผู้รับสารควรจะลดอคติในตัวเองและตั้งคำถามเพิ่มเติม พร้อมทั้งตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งต่างๆก่อนที่จะเชื่อข้อเท็จจริงเหล่านั้น เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด และความตื่นตระหนกที่อาจจะเกิดขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง