กรุงเทพฯเตรียมปรับภูมิทัศน์หลายพื้นที่ ตามแนวพระราชดำริ "กรุงเทพเมืองสวรรค์"

สังคม
15 ธ.ค. 54
11:35
10
Logo Thai PBS
กรุงเทพฯเตรียมปรับภูมิทัศน์หลายพื้นที่ ตามแนวพระราชดำริ "กรุงเทพเมืองสวรรค์"

กรุงเทพมหานครเล็งพื้นที่ถนนวงแหวนรัชดาภิเษกเพื่อพัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีเขียวเป็นการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพื้นที่ย่านพิพิธภัณฑ์ริมคลองคูเมืองเดิมเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และ บริเวณโดยรอบบึงพระราม 9 ที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โปร่งให้เป็นเมืองน่าดู ใช้เป็นแบบอย่างพื้นที่นำร่องปรับปรุง และ ฟื้นฟูเมืองตามแนวพระราชดำริ "กรุงเทพเมืองสวรรค์" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเสวนา "กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์" เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมปรับปรุงฟื้นฟูเมือง ตามกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ และ สื่อมวลชน ร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำกรอบแนวคิดสำหรับปรับปรุงฟื้นฟูเมือง และ เสนอมาตรการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 

 
ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา กทม.ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเมืองกรุงเทพฯ และ โครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ การศึกษาแนวทางการพัฒนาเมืองน่าอยู่ในต่างประเทศ เพื่อนำมาแนวทางกำหนดกรอบแนวคิดของโครงการแล้วกว่า 300 โครงการ
 
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยจะเน้นจัดผังภูมิทัศน์สาธารณะ 3 ลักษณะ ประกอบด้วย ภูมิทัศน์เส้นทางจราจร ภูมิทัศน์พื้นที่โล่งสาธารณะ และ ภูมิทัศน์ย่านประวัติศาสตร์ เพื่อให้ กทม. เป็นเมืองที่โปร่งน่าดูเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และ เป็นเมืองสวยงาม 
 
นอกจากนี้ยังเล็งพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอย่างถนนวงแหวนรัชดาภิเษกให้เป็นตัวอย่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีเขียวเพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม บริเวณโดยรอบบึงพระราม 9 เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่โปร่งให้เป็นเมืองน่าดู และ ย่านพิพิธภัณฑ์ริมคลองคูเมืองเดิม เป็๋นเมืองประวัติศาสตร์
 
นอกจากนี้อนาคตอาจต้องทบทวนการวางระบบผังเมืองให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ด้วย เช่น การสร้างถนนที่ต้องยกระดับให้สูงขึ้น เพื่อเป็นแนวคันกั้นน้ำ การสร้างฟลัดเวย์ และ หาแหล่งแก้มลิงเพิ่มเติม
 
ด้านนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธชัยพัฒนา เน้นย้ำว่า พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้ช่วยกันรักษาธรรมชาติซึ่งหมายถึงความธรรมดา โดยต้องยอมรับว่า เหตุภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมาจากการที่คนไม่รักษาธรรมชาตินอกจากนี้ พระองค์ยังทรงย้ำถึงประโยชน์การใช้ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นที่ตั้ง เช่น การทำประโยชน์จากที่ดินให้เป็นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิง
 
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา บอกด้วยว่า จุดอ่อนของประเทศขณะนี้ คือ การบริหารจัดการ ที่ต้องยึดผังเมืองเป็นสำคัญ รวมทั้ง แบ่งโซนพื้นที่การใช้ประโยชน์ พร้อมยอมรับว่า กทม.ถูกออกแบบมาให้รับน้ำและจำนวนคนได้ปริมาณหนึ่ง แต่หากเกินกว่านี้ได้จะเกิดปัญหา
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง