เรื่องเล่าจากรูสะมิแล: เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

15 ธ.ค. 54
16:05
18
Logo Thai PBS
เรื่องเล่าจากรูสะมิแล: เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

หมู่บ้านรูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุพายุดีเปรสชั่นเมื่อปลายปีที่แล้ว  ตอนนี้ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปี นักข่าวพลเมืองโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ลงไปสำรวจพื้นที่ พบว่า ชาวบ้านในพื้นที่ได้เรียนรู้บทเรียนภัยพิบัติจากครั้งที่แล้ว มาเตรียมการจัดการดูแล ตัวเองเบื้องต้นแล้ว โดยไม่ได้รอความช่วยเหลือจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว

บังอิสสะมะแอ สาแม ชาวประมงพื้นบ้าน ม.1 รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี  เล่าให้เราฟังว่าปกติแล้วลมที่พัดมาในช่วงมรสุมสร้างความเสียหายแค่กระเบื้องหลังคาบ้านแตกไป 4-5 แผ่นเท่านั้น  แต่ปีที่แล้วพายุดีเปรสชั่นได้พัดพาบ้านและหลังคาของเขาหายไปกว่าครึ่งหลัง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้หายจมไปกับน้ำเกือบหมด ครั้งนั้นทำได้เพียงแค่อพยพครอบครัวไปอยู่บ้านญาติเท่านั้น  แต่ความกังวลของเขาได้เกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากมีประกาศเตือนให้ระวังสภาพอากาศ 

“ สำหรับปีนี้ทางโทรทัศน์ได้ประกาศว่าจะมีคลื่นเข้ามารู้สึกไม่สบายใจ เตรียมเสื้อผ้าใส่กระสอบไว้สองอาทิตย์แล้วเพื่อเตรียมอพยพ ถ้าลมไม่มาก็เอามาใส่ใหม่ก็ได้ เพราะปีที่แล้วไม่เหลืออะไรเลย  หลังจากเกิดเหตุครั้งนั้นวันนี้ซ่อมแซมบ้านเกือบจะเสร็จแล้ว  เมื่อสองสามคืนที่ผ่านมาน้ำขึ้นมาบริเวณบ้านก็หนักแล้ว แต่ก็กลัวกว่าลมจะมาอีก ช่วงนี้ก็สังเกตในเรื่องของทิศทางลมว่ามีลมมารึเปล่า”

เช่นเดียวกับแบมิ  อาแซ มามะห์ ประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากลมที่พัดแรงในปีที่แล้ว เขาเล่าว่า ตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นลมพายุที่พัดมาแรงขนาดนี้  มาพร้อมกับคลื่นลมพัดพาน้ำและโลนมาด้วย  ปกติแล้วคนที่นี่จะเคยชินกับการที่ที่ฝนตกและลมมรสุม แต่เป็นห่วงในเรื่องของพายุมากกว่า

“ เรื่องของฝนฟ้าอากาศ เราไม่ได้กลัวอยู่แล้ว เพราะอยู่กับมันมาตลอิดชีวิต  แต่สิ่งที่เรากังวลคือเรื่องของพายุเหตุการณ์ปีที่แล้วเป็นบทเรียนที่ทำให้เราระวังตัวมากขึ้น  พร้อมกับเรียนรู้การสังเกตคลื่นลมและก้อนเมฆตอนออกทะเล มีวิธีการสังเกตก้อนเมฆก่อนวันที่พายุจะมา  สังเหตง่ายๆ คือถ้าก้อนเมฆที่เราเห็นยังอยู่ในระดับสายตาแสดงว่ายังไม่เกิดภัยธรรมชาติ  แต่ถ้าก้อนเมฆลอยขึ้นไปสูงและรวมตัวกันเป็นก้อนพร้อมกับมีฟ้าผ่าลงมากลางก้อนเมฆเป็นการเตือนภัยว่าควรที่จะอพยพได้แล้ว เดี่ยวนี้ใช้วิธีการสังเกตและใช้ความชำนาญสังเกตทิศทางลมด้วยถ้ามีข่าวอย่างไหรก็จะวิทยุมาแจ้งเพื่อนๆ บนชายฝั่ง”

ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นช่วงฤดูมรสุมซึ่งถือว่าเป็นฤดูกาลปกติสำหรับคนที่นี่   แต่หลังจากเกิดเหตุเมื่อปีที่แล้ว ทำให้หลายคนกังวลและเตรียมการมากขึ้น  เพราะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลและอยู่บริเวณแนวปากแม่น้ำปัตตานี  ทำให้บ้านเรือนบริเวณนั้นได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  จึงต้องเตรียมการและเฝ้าระวังกันเป็นพิเศษ

แบมิ บอกว่า   นอกจากที่เราจะช่วยกันเฝ้าระวังสถานการณ์และแจ้งเตือนข่าวสารกันเองเบื้องต้นแล้ว เขายังมีข้อเสนอว่าน่าจะทำแนวป้องกันคลื่นโดยนำดินบริเวณนั้นมาถมเป็นแนวยาวพร้อมกับการปลูกป่าชายเลน น่าจะช่วยชะลอความแรงของคลื่นและลมได้

 “ที่ผ่านมาเคยมีชาวบ้านกับนักศึกษาม.อ.เคยมาปลูกป่าชายเลน แต่ติดปัญหาว่าต้นไม้ที่ปลูกโดนคลื่นซัดมาพร้อมกับโคลนมาทับป่าชายเลนที่ปลูกไว้  ทำให้ต้นไม้ตายหมดเลย   แต่คิดว่าแนวป้องกันคลื่นคือเอาดินบริเวณนั้นมาถมให้กว้างแปดเมตร สูงประมาณ 2 เมตร คิดว่าน่าจะป้องกันได้ “

วันนี้แม้ว่าคลื่นลมจะยังเงียบสงบ   แต่คนที่นี่เองก็ไม่ได้ประมาท เฝ้าเตรียมการและดูแลกันเองตลอดเวลา เพราะไม่อยากให้ความสูญเสียเกิดซ้ำขึ้นอีกครั้ง 

 

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง