"สนธิ" ชี้ปรองดองต้อง "ให้อภัย"

เศรษฐกิจ
20 ธ.ค. 54
11:54
7
Logo Thai PBS
"สนธิ" ชี้ปรองดองต้อง "ให้อภัย"

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ กล่าวย้ำในหลักการปรองดอง คือการให้อภัย หลังแถลงผลการประชุมแนวทางการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะประธาน ได้ประชุมพิจารณาแนวทางการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมและร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญในการอภัยโทษในอดีต โดยเชิญตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ความเห็นทางกฎหมาย ซึ่งได้รับคำชี้แจงเกี่ยวกับความหมายของคดีทางการเมือง 4 ประเภท ประกอบด้วยความผิดด้านความมั่นคงในประเทศ, ความผิดความมั่นคงนอกประเทศ, ความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการชุมนุมของนักศึกษาในเหตุการณ์ ต.ค.16 แต่เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่า ความผิดก่อการร้าย, การชุมนุมทางการเมือง, การกระทำผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต่างเข้าข่ายเป็นคดีทางการเมืองเช่นกัน

หลังการประชุม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, นายนคร มาฉิม และนายชวลิต วิชสุทธิ์ ร่วมแถลงชี้แจงการประชุม โดย พล.อ.สนธิกล่าวย้ำในหลักการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่จะสร้างกระบวนการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ไม่เพียงลบภาพความขัดแย้งเรื่องการเมือง แต่ยังหมายถึงความปรองดองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย และระบุว่า การปรองดองที่ดีที่สุด คือการให้อภัยซึ่งกันและกัน

สำหรับการประชุมในวันอังคารที่ 27 ธ.ค. หรือสัปดาห์หน้า คณะกรรมาธิการฯ เตรียมเชิญสถาบันพระปกเกล้าเข้ารายงานความคืบหน้าผลการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง และตัวแทนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมาให้ข้อมูล หลังจากนั้นวางแนวทางที่จะเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองและบุคคลสำคัญทางการเมือง ตลอดจนคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาให้ความเห็นต่อการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ส่วนมาตรา 112 ในกฎหมายอาญา โดยเฉพาะผลจากคดีหมิ่นสถาบัน ซึ่งมีเสียงสะท้อนถึงการบังคับใช้ทั้งในแง่บวกและลบ มีความเห็นส่วนตัวจากผู้บัญชาการทหารบกที่กล่าวย้ำว่า การบังคับใช้เป็นไปอย่างเท่าเทียมและเหมาะสมแล้ว

สอดคล้องกับความเห็นของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนให้คงไว้ โดยไม่ควรแก้ไขเปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำว่า ไทยก้าวหน้าและรุ่งเรืองได้เพราะสถาบันหลักของประเทศ

ส่วนการประชุมพรรคเพื่อไทยเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีรายงานว่า พรรคจะได้สรุปและลงมติเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดอง, ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 และร่างแก้ไขเพิ่มกฎหมายต่างๆ

 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง