ศิลปินเพื่อการปฏิรูปรวมพลัง เครือข่ายเรียนรู้ฟื้นฟูศิลปะ

Logo Thai PBS
ศิลปินเพื่อการปฏิรูปรวมพลัง เครือข่ายเรียนรู้ฟื้นฟูศิลปะ

นำร่องกู้คลังเก็บความรู้ ต้นแบบการศึกษา หาแนวทางร่วมป้องกันภัยพิบัติ ในอนาคต พร้อมเยียวยาจิตใจศิลปินร่วม “กู้ศิลปะ บ้านศิลปิน”ต่อ

คณะกรรมการครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.  จัดงานเสวนาเพื่อการเรียนรู้ “กู้ศิลปะ บ้านศิลปิน” ขึ้นที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า  อุทกภัยใหญ่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย โดยเฉพาะ “ศิลปะ” สมบัติอันล้ำค่าของประเทศที่บ่งบอกถึงความเป็นอดีต รากเหง้า วัฒนธรรม ชุมชน สังคมดั้งเดิมของประเทศได้ไป นอกจากทำให้นักเขียน และศิลปินสูญเสียทั้งผลงานที่สร้างหรือสะสมมา จนบางชิ้นถึงกับหามาทดแทนไม่ได้ไปเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการ “กู้ศิลปะ บ้านศิลปิน” เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปจึงได้นำร่องช่วยเหลือแหล่งรวบรวมงานศิลปะอย่างพิพิธภัณฑ์ที่เปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ เป็นสมบัติของชาติต้องสูญเสียและพังทลายลงด้วยกระแสน้ำที่ไม่อาจกั้นได้ ทำให้ภาพความทรงจำของอดีตเลือนรางไป ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของ “ศิลปิน”  อย่างบ้านพิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง ก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษา และหาแนวทางร่วมกันเพื่อป้องกันพิบัติภัยที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่ให้สร้างความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำอีก

“การช่วยเหลือศิลปินหรือการดูแลงานศิลปะนั้นถือเป็นมติ 1 ใน 6 ข้อที่เครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูปได้เสนอและมีมติร่วมกันในสมัชชาปฏิรูป เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมกับการสร้างสรรค์และเยียวยาสังคม ว่า หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลงานศิลปวัฒนธรรม จะต้องพึงมีหน้าที่ในการที่สนับสนุน ส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนอย่างจริงจังและเข้มแข็ง ซึ่งการเริ่มต้นที่จะมาช่วยเหลือพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเก็บความรู้ในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้รัฐบาลหรือสังคมมีวิธีการเก็บถ่ายทอด ทำเป็นสำเนาเอาไว้ หรือในกรณีที่เสียหาย หรือดูแล หวงแหนงานศิลปะมากขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ต่อสังคมต่อไป” นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าว

งนายเอนก นาวิกมูล เจ้าของบ้านพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นของบ้านพิพิธภัณฑ์นั้นจะเกิดขึ้นบริเวณชั้น 1 ซึ่งเป็นของเล่นของเด็กไทยแต่โบราณ, ของเล่นจากเมืองจีนหรือต่างประเทศ, ตุ๊กตาไขลาน, ร้านขายยา ชื่อเจริญพานิช, ร้านของเล่นใหม่ ชื่อ “ห้างสถาพร”, ของเล่นยุค 2500, ตุ๊กตานานาชาติ ยุค 2500,  ตุ๊กตาไขลานเด็กถือถ้วยชา, ตุ๊กตากล, ร้านโชห่วย ที่ขายขนมนมเนย สบู่ ยาสีฟัน อาหารกระป๋อง ขวดน้ำปลา, ร้านขายยา “จี้มิ้น”, ร้านขายของที่ระลึก โดยของทุกชิ้นที่เก็บอยู่ที่ชั้นนี้ล้วนเป็นของเก่าที่มีค่ามาก บางชิ้นมาจากการเก็บสะสมมากว่า 20 ปี บางชิ้นมาจากน้ำใจของคนที่บริจาคมา ไม่ว่าจะมีราคาแค่ 1-2 บาทหรือแม้กระทั่งราคาเป็นหมื่นก็แล้วแต่มีค่าทั้งนั้น เมื่อน้ำท่วมบางชิ้นก็กลายเป็นขยะไปเลยไม่สามารถฟื้นฟู ซ่อมแซมได้ อุทกภัยครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อปกป้อง “ศิลปวัฒนธรรม” ของไทยเอาไว้ โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ หรือห้องสมุดแหล่งที่เป็นต้นทุนความรู้ต่างๆ อย่างจริง เพื่อให้สังคมได้ศึกษา และเรียนรู้ร่องรอยของอดีตผ่านสิ่งของต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ

 ด้านนายเจนภพ จบกระบวนวรรณ เจ้าของพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง กล่าวว่า ความสูญเสียของ พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งที่เกิดจากมหาอุทกภัยครั้งนี้นั้นมีมากมาย อาทิ ของสะสมในวงการเพลงลูกทุ่ง อายุกว่าครึ่งศตวรรษมากมาย เสียหายไปแบบที่ยังไม่รู้ชะตากรรม ทั้งแผ่นเสียง เทปเพลง หนังสือเพลง โน้ตเพลง รูปภาพศิลปิน สมุดจดเพลง โปสเตอร์วงดนตรีลูกทุ่ง บัตรเข้าชมวงดนตรี เครื่องใช้ต่างๆ ของศิลปิน ฯลฯ ซึ่งมันเกินกว่าจะแสดงความรู้สึก เพราะพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งมันเป็นสิ่งเกิดจากความอดทน มุมานะ ต่อสู้ บากบั่นมาทั้งชีวิต ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ในมุมมองของศิลปินแล้วการสูญเสียครั้งนี้ไม่ต่างอะไรจากการเสียชีวิต แต่ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ การกอบกู้ให้พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งกลับมาอีกครั้งเพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้มาดูจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป

        
“การเสียหายคราวนี้ไม่ใช่เกิดการเสียหายเพียงแค่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่การที่พิพิธภัณฑ์ หรือแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมเสียหายเปรียบเสมือนคนทั้งแผ่นดินเสียหาย และสูญเสียไปด้วย “การกู้ศิลปะ บ้านศิลปิน” ให้คงอยู่ด้วยพลังของทั้งเครือข่าย รัฐบาล หรือแม้แต่สังคมจึงเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ต้องเร่งทำ ซึ่งถ้ามีการสนับสนุนและทำอย่างจริงจังเชื่อว่าจะดีกว่าที่จะให้ปล่อยให้ “ศิลปิน” ต่อสู้เพียงลำพังเพื่อทำหน้าที่ปกปักรักษาสมบัติของแผ่นดินเอาไว้แน่นอน” นายเจนภพ  จบกระบวนวรรณ กล่าว  

          
สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคของสิ่งของเพื่อนำไปรวมรวมทั้งที่บ้านพิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่งสามารถติดต่อได้โดยตรงที่ บ้านพิพิธภัณฑ์ เลขที่ 170/17 หมู่ที่ 17 ซอยคลองโพ 2 ถนนศาลาธรรมสพน์ (ถนนเล็ก ต่อจากปลายถนนพุทธมณฑลสาย 2 ด้านทางรถไฟ) เขตทวีวัฒนา กทม.10170 โทรศัพท์ 089-200-2803 และที่ พิพิธภัณฑ์เพลงลูกทุ่ง เลขที่ 577/78 หมู่บ้านอิ่มอำพรซอยพาณิชยการธนบุรี ถนนจรัลสนิทวงศ์ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพ 10600 หรือโทรศัพท์โดยตรงไปที่ 081-815-4247 / 02-412-1694


ข่าวที่เกี่ยวข้อง