"ลุงต่วย" แห่งหนังสือ "ต่วย'ตูน" เสียชีวิตด้วยวัย 85 ปี

Logo Thai PBS
"ลุงต่วย" แห่งหนังสือ "ต่วย'ตูน" เสียชีวิตด้วยวัย 85 ปี

นายวาทิน ปิ่นเฉลียว บรรณาธิการเจ้าของนามปากกา "ลุงต่วย" แห่งหนังสือ ต่วย'ตูน เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 85 ปี หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมาเป็นเวลานาน

 ศพของนายวาทินตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร โดยในวันพรุ่งนี้ (5 ต.ค.2558) จะมีพิธีรดน้ำศพเวลา 16.00 น. และสวดอภิธรรม 5-11 ต.ค.เวลา 19:00น.

นายวาทินเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร ต่วย'ตูน ซึ่งวางแผงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2514 และยังคงพิมพ์จำหน่ายมาถึงทุกวันนี้

ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2509 วาทิน ปิ่นเฉลียวและประเสริฐ พิจารณ์โสภณ นักเขียนจากนิตยสารชาวกรุง ร่วมกันตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ "สำนักพิมพ์ประเสริฐ-วาทิน" และรวบรวมการ์ตูนที่วาทินวาดในนิตยสารชาวกรุง รวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กในชื่อ "รวมการ์ตูนของต่วย" พิมพ์ออกมาขายเป็นชุดๆ ต่อมาจึงพิมพ์เรื่องสั้น โดยขอต้นฉบับจากบรรดานักเขียนอาวุโส และเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นนักเขียนในสมัยนั้น เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, รัตนะ ยาวะประภาษ, นพพร บุญยฤทธิ์, วสิษฐ เดชกุญชร รวมกับการ์ตูนของวาทิน ออกเป็นนิตยสารรายสะดวก ใช้ชื่อว่า "รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง"

ต่อมามีคนท้วงติงว่า ชื่อหนังสือยาวเกินไปเรียกยากจำยาก จึงตัดชื่อหนังสือเหลือ ต่วย’ตูน และเริ่มพิมพ์เป็นรายเดือนฉบับแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 และพิมพ์ ต่วย’ตูน พิเศษ เป็นนิตยสารรายเดือน มีเนื้อหาเกี่ยวเกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องน่ารู้ เรื่องลึกลับ เรื่องแปลกและเรื่องผี ฉบับแรกเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517

เว็บไซต์ www.tuaytoon.com ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายวาทิน ซึ่งเขาเล่าว่าตนเป็นคนชอบอ่านหนังสือและวาดรูปมาตั้งแต่เด็กเพราะได้รับอิทธิพลมาจากพ่อ (วิวัธน์ ปิ่นเฉลียว) สมัยที่เรียนอยู่คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ตอนเป็นนิสิตปี 1 (พ.ศ. 2492) มีโอกาสได้วาดการ์ตูนในหนังสือฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ผลงานเป็นที่พอใจในหมู่เพื่อนพ้องและรุ่นพี่ รวมทั้งอาจารย์ด้วย ต่อมาอาจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร เห็นผลงานเข้า เลยชักชวนไปเขียนภาพประกอบเรื่องในนิตยสาร โดยใช้นามปากกา “ภูมิ ภาวนา”

"หลังจากจบสถาปัตย์ฯ ผมรับราชการเป็นสถาปนิกที่กรมชลประทาน ระหว่างที่รับราชการอยู่ก็เขียนการ์ตูนไปด้วย พอมีการ์ตูนเยอะเข้า ก็เลยเอามารวมเล่ม ช่วยกันทำกับเพื่อนชื่อ ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ ปรากฏว่าขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำ กลายเป็นแรงบันดาลใจให้พิมพ์ออกมาอีกเป็นชุดๆ มีทั้งหมด 5-6 ชุด เป็นการรวมภาพการ์ตูนทั้งของเก่าและของใหม่ พอถึงเล่ม 6 การ์ตูนที่เคยเขียนไว้ก็หมด เขียนใหม่คนเดียวประมาณ 200 รูปต่อเล่ม ก็ไม่ไหว ประเสริฐก็แนะว่าเอ็งจะเขียนคนเดียวทำไม ไปขอเรื่องของนักเขียนที่เคยลงในชาวกรุงมาสิ ผมก็เลยไปขอจากผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างเช่น ครูอบ ไชยวสุ คุณประหยัด ศ.นาคะนาท คุณประมูล อุณหธูป ที่สำคัญที่สุดก็คือ ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ พวกท่านก็เมตตาให้มาฟรีๆ เรื่องที่ให้มาก็เป็นเรื่องที่ดีมีชื่อสียงอยู่แล้ว ผมก็เอามารวมเล่มแล้วใส่การ์ตูนเข้าไป เลยตัดสินใจเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น "รวมการ์ตูนต่วยและเรื่องขำขันจากชาวกรุง" ไม่อย่างนั้นจะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่เขาเขียนเรื่องให้

"ตอนนั้นผลตอบรับดี ก็เลยได้ใจออกใหญ่ แต่ยังเป็นรายสะดวกอยู่นะ กะว่าประมาณเดือนละเล่ม พอออกไปถึงเล่มที่ 16 ทางผู้จัดจำหน่ายก็ต่อว่ามา ว่าชื่อหนังสือยาวเหลือเกิน คนจำยาก ผมเลยตัดชื่อเป็น ต่วย’ตูน ก็แล้วกัน แล้วก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เป็นต่วย’ตูนเล่ม 1 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2514 จากนั้นก็วางแผงตรงเวลาเป็นรายเดือน" นายวาทินให้สัมภาษณ์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง