ประชุมหม่อนไหมโลก ต่อยอดพัฒนาวิชาการหม่อนไหม และโอกาสทองของเกษตรกรไทย

Logo Thai PBS
ประชุมหม่อนไหมโลก  ต่อยอดพัฒนาวิชาการหม่อนไหม และโอกาสทองของเกษตรกรไทย

มีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนสมาชิกและประเทศผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร รวมทั้งสิ้น 300 คน จากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ (International Sericultural Commission : ISC) ได้แก่ อียิปต์ ฝรั่งเศส อินเดีย บราซิล อิหร่าน ญี่ปุ่น มาดากัสการ์ โรมาเนีย ตูนิเซีย และไทย จากจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด 13 ประเทศ และนักวิชาการด้านหม่อนไหมจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ISC อาทิ ตุรกี ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง คิวบา สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น ซึ่งในปีนี้คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศได้คัดเลือกนักวิจัยและนักวิชาการ ได้แก่ นายคาซุเอะอิ มิตะ ประเทศญี่ปุ่น และนายฮาดิเคเร กัลละปะ บาซาวาราจา ประเทศอินเดีย เป็นผู้ได้รับรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ ประจำปี 2554

ผลงานทางวิชาการที่นำเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย ภาคบรรยาย 46 เรื่อง ภาคโปสเตอร์  7 เรื่อง ครอบคลุมเนื้อหาใน 7 สาขา ได้แก่  เรื่องเกี่ยวกับหม่อน ไหมที่กินใบหม่อนเป็นอาหาร ไหมที่ไม่กิน      ใบหม่อนเป็นอาหาร หม่อนไหมด้านชีววิทยา วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวของไหม  เศรษฐกิจหม่อนไหม และ    การแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ อาทิ การทำผลิตภัณฑ์ยาเม็ดใบหม่อนช่วยลดระดับ  สารที่ก่อให้เกิดโรคไขมันสะสมในเลือด  การอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมไหมและการนำไปใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาไหมป่าในอนาคต ชนิดไหมทาร์ซ่าส์-ไหมอีรี่และการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาศึกษาสายพันธ์ไหมป่าของประเทศอินเดีย  การใช้เทคโนโลยีชีวภาพศึกษาการทำฐานข้อมูลพันธุกรรมไหม การตัดต่อยีนส์เพื่อได้สายพันธุ์ไหมที่ป้องกันโรคไหมบางชนิด การสกัดสารโบมีเลนจากสับปะรดเพื่อใช้ในการลอกกาวไหมแบบชนิดต้มซึ่งพบว่าทำให้โครงสร้างเส้นใยไหมไม่ถูกทำลายเพื่อเปรียบเทียบการการลอกกาวไหมที่ใช้ด่าง การใช้โปรตีนไหมไฟโบรอินต่อการดูแลผิวพรรณ การสมานเซลของผิวหนัง ศึกษาไหมนาโนในเชิงทางการแพทย์   การตัดต่อยีนส์เพื่อเพิ่มคุณลักษณะของเส้นใยไหม การทำผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากไหมป่า และ การศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระจากหม่อนสายพันธุ์ต่างๆ ของประเทศไทย การจดสิทธิบัตรทางปัญญาของไหม และอุตสาหกรรมไหมของประเทศอินเดีย สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของ ผ้าไหมยกดอกลำพูนเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์  เป็นต้น

นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า จากการประชุมโต๊ะกลมของคณะกรรมการ ISC มีประเด็นที่น่าสนใจคือ สถานการณ์หม่อนไหมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยรายงานผลผลิตเส้นไหมดิบของโลกสูงสุดเมื่อปี 2005 เท่ากับ 130,000 ตัน โดยมี ๓ ประเทศหลักที่มีการผลิต คือสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และญี่ปุ่น จากนั้นในปี ๒๐๐๘ ปริมาณการผลิตของเส้นไหมดิบเริ่มลดต่ำลงเหลือประมาณ  110,000 ตัน โดยปริมาณการส่งออกเส้นไหมดิบของประเทศจีนมีการส่งออกเส้นไหมดิบเป็นอันดับหนึ่ง มีปริมาณการส่งออกในปี 2002 เท่ากับ 1.5 หมื่นตัน ลดลงเหลือประมาณ ๑.๑ หมื่นตันในปี 2009 ประเทศที่นำเข้าเส้นไหมดิบมากที่สุดคือประเทศอินเดีย มีอัตราการนำเข้า 9,000 ตันในปี 2005 และลดลงหลังจากปี 2009

เมื่อมาพิจารณาราคาเส้นไหมดิบพบว่าราคาเส้นไหมมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2002 ไหมเกรด A ราคาประมาณ ๑๕ เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ถึงปี 2011 ไหมเกรด A ราคา ประมาณ 58 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม สาเหตุที่ปริมาณการผลิตลดต่ำลงและราคาสูงขึ้นนั้น อาจมีสาเหตุมาจากหลายประการ     ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกทำให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร การเกิดก๊าซเรือนกระจกอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น การเกิดมหาอุทกภัยในหลายประเทศโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่สำคัญของโลกเช่นแถบอาเซียน  และด้วยประเทศจีนมีฐานการผลิตสูง แรงงานถูก ทำให้ราคาเส้นไหมที่มาจากประเทศจีนถูกกว่าประเทศอื่น ทำให้บางประเทศต้องยุติการผลิตไป 

หลายประเด็นที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะร่วมกัน ได้แก่ บทบาทของคณะกรรมาธิการหม่อนไหมโลกควรมีการศึกษาด้านการตลาดให้มากกว่าปัจจุบันเพื่อหาช่องทางการขายให้มากขึ้นจะทำให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหันกลับมาทำอาชีพนี้มากกว่าเดิม   ฐานข้อมูลเกี่ยวกับการผลิต การนำเข้า และการส่งออกของเส้นไหมดิบยังไม่แน่นอน ควรมีฐานที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง  ควรมีความร่วมมือทางวิชาการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างประเทศปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยกัน  ควรมีการทำ GMO หรือการตัดต่อพันธุกรรมไหมเพื่อเพิ่มผลผลิต  รังไหมและให้ไหมมีความต้านทานต่อโรคและแมลงแต่จะไม่มีผลกระทบทางลบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ และ ควรนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตและให้ต้านทานต่อสภาพแวดล้อม
 
อธิบดีกล่าวว่า ที่ประชุมมีการเสนอว่าธุรกิจการทำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในทุกประเทศนั้น ควรให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทและเกื้อหนุนเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างจริงจัง เพราะจะได้มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ควรมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทำผ้าไหมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าไหมด้วย  ที่สำคัญควรมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ผ้าไหมสามารถนำมาใช้ได้อย่างสะดวก สวมใส่สบาย และดูแลรักษาง่าย นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้     ผ้าไหม เช่น การทำเสื้อยืดจากผ้าไหมที่มีคุณสมบัติเหมือนผ้ายืด เพื่อให้วัยรุ่นหนุ่มสาวหันมาใช้ผ้าไหมมากขึ้น ซึ่งประเด็นที่เปิดให้ที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกันก็คือ การทำอย่างไรให้ประเทศที่กำลังพัฒนามีปริมาณการผลิตเส้นไหมดิบที่สูงขึ้น และทำอย่างไรให้เส้นไหมดิบของประเทศที่กำลังพัฒนามีราคาสูงขึ้น เป็นคำถามที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องนำไปขบคิดต่อไป
 
ส่วนหนึ่งของการประชุมในครั้งนี้ กรมหม่อนไหมได้นำผู้เข้าประชุมไปเที่ยวชมมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 พร้อมทั้งร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ และจังหวัดลำพูน จัดทัศนศึกษาพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำชมนิทรรศการเสน่ห์ล้านนา   พัสตราภรณ์งามพิลาศ ชมห้องผ้าโบราณผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่าง ๆ ในล้านนา รวมไปถึงกลุ่มไทลาว ไทพวน รูปแบบโครงสร้างของผ้าซิ่น ตลอดจนกลุ่มผ้าหายากและมีความโดดเด่นในการใช้เทคนิคการทอและการตกแต่งที่สวยงาม จากนั้นจึงไปยังสถาบันผ้าทอมือหริภุญไชย จังหวัดลำพูน โดยมีเจ้าดารารัตน์ ณ ลำพูน  เป็นองค์อุปถัมภ์ เพื่อชมไหมไทยยกดอกลำพูนที่จดทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ผ้าไหม GI) โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม และเป็นผ้าไหมคู่แฝดกับสินค้าแชมเปญของอิตาลีด้วย
 
ประโยชน์จากการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลกในครั้งนี้ เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิจัยหม่อนไหมระหว่างประเทศ  ได้รับทราบสถานการณ์ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของแต่ละประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ราคาเส้นไหมดิบสูงขึ้น และขาดแคลนเส้นไหมดิบ ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศไทยที่มีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยเฉพาะกรมหม่อนไหม ควรเร่งรัดดำเนินการสนับสนุนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของเกษตรกร พร้อมกับพัฒนาระบบการจัดการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศให้อยู่ในแนวหน้าของโลกหรืออย่างน้อยเป็นผู้นำในระดับอาเซียน  

ที่สำคัญ ความรู้ทางด้านวิชาการหม่อนไหมและนวัตกรรมใหม่ๆ การประชุมครั้งนี้จัดเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้เฉพาะทางโดยตรงตั้งแต่ภาคการผลิตจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นอกจากจะมีการประชุมวิชาการด้านไหมกินใบหม่อนแล้ว ยังมีการเสนอผลงานวิชาการด้านไหมที่กินพืชอื่นเป็นอาหาร การพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ เทคนิคการเลี้ยงไหมที่กินพืชอื่นเป็นอาหาร ซึ่งเป็นงานในหน้าที่หนึ่งของกรมหม่อนไหมที่ต้องมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ และเทคโนโลยีการเลี้ยง นอกเหนือจากไหมกินใบหม่อนเป็นอาหาร
 
จากการประชุมยังทำให้ได้รู้แนวการคิดระบบสัดส่วนผลประโยชน์ที่ได้รับของเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับผู้ประกอบการ เช่นของประเทศอินเดียวิธีการคิดระบบสัดส่วนผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับอยู่ที่ 70% ผู้ประกอบการได้รับ 30% ทั้งนี้ต้องนำฐานการคิดของประเทศอินเดีย มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 60% : 40%  ซึ่งถ้าทำได้จะมีจำนวนเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศเพิ่มขึ้นรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น 

นอกจากนี้ยังทำให้นานาชาติได้รับรู้และยอมรับถึงศักยภาพของประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหม่อนไหมโลก และประเทศไทยพร้อมที่จะเสนอตัวเป็นเลขาธิการคณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศในคราวต่อไป ซึ่งประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์รวมข้อมูลการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของโลก เป็นการชิงความได้เปรียบและอำนาจต่อรองด้านราคา  และการประชุมยังทำให้นานาชาติได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของชาวล้านนาและของชาวไทยภาคอื่นๆ สร้างความประทับใจที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติได้กลับมาเที่ยวเมืองไทยอีก นับเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง
    
“ประเทศไทยซึ่งมีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อีกทั้งผ้าไหมไทยยังมีลวดลายสวยงามเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในโลก ในสถานการณ์ที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนลดกำลังการผลิตและเส้นไหมมีราคาสูงขึ้นเช่นในขณะนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เกษตรกรไทยจะช่วงชิงโอกาสในการพัฒนาและเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับกับความต้องการในตลาดโลกได้อย่างเพียงพอ นำมาสู่รายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยรวมของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและยั่งยืนต่อไปได้ในที่สุด” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง