ฝ่ายค้าน-ส.ว.ยื่นตีความ พ.ร.ก.กู้เงิน ในสัปดาห์หน้า

การเมือง
27 ม.ค. 55
06:54
11
Logo Thai PBS
ฝ่ายค้าน-ส.ว.ยื่นตีความ พ.ร.ก.กู้เงิน ในสัปดาห์หน้า

ผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการขายหุ้นบริษัท ป.ต.ท.ให้กับกองทุนวายุภักดิ์ โดยเชื่อว่า มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ และ กรรมาธิการของวุฒิสภา เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความพระราชกำหนดการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูกว่า 1 ล้านล้านบาท เนื่องจากเห็นว่า เป็นการผิดขั้นตอนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ภายหลังพระราชกำหนดกู้เงิน 4 ฉบับ ของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า หลังจากนี้จะตรวจสอบข้อมูลพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และ พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูจำนวน 1,140,000 ล้านบาทเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ซึ่งคาดว่าจะยื่นได้ภายในวันจันทร์นี้เนื่องจากต้องดำเนินการก่อนที่รัฐบาลจะส่งพ.ร.ก ทั้ง 4 ฉบับ ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ

ขณะที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหาในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง และสถาบันการเงิน วุฒิสภา เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการมีมติที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟู โดยจะรวบรวมรายชื่อ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 และคาดว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญผ่านประธานวุฒิสภาได้

สำหรับขั้นตอนเมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 ฉบับ ใน ราชกิจานุเบกษาแล้ว รัฐบาลจะต้องนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ประธานสภาฯบรรจุในระเบียบวาระทันที และ ให้สภาฯลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ โดยการลงมติสามารถเปิดให้สมาชิกอภิปรายได้แต่ไม่สามารถแก้ไขในรายละเอียด ก่อนส่งให้วุฒิสภาเห็นชอบต่อไป

ขณะที่ผลสำรวจของกรุงเทพโพลต่อแนวคิดเรื่องการขายหุ้นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้กับกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ้นจากสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 77 ไม่เห็นด้วย โดยเชื่อว่าการขายหุ้น ปตท.มีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง และ ยังเชื่อว่าจะเป็นผลเสียต่อประชาชนโดยรวม จากราคาพลังงานประเภท น้ำมัน ก๊าช ที่อาจจะสูงขึ้น

ส่วนเรื่องที่ประชาชนเป็นห่วงและวิตกกังวลมากที่สุดคือ การรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคต รองลงมาคือ จะทำให้กลุ่มทุน กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เข้ามาแสวงหาผลกำไร และกังวงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

 
เมื่อถามถึงสถานะของบริษัท ปตท.ควรเป็นแบบใดส่วนใหญ่ร้อยละ 62 ระบุว่า ควรเป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐสามารถกำกับดูแลได้เหมือนในปัจจุบัน รองลงมาร้อยละ 28 ระบุว่า ให้ยึดคืนกลับไปเป็นของรัฐ และร้อยละ 9 ระบุว่าควรเป็นของเอกชนเต็มตัว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง