ส.ส.-ส.ว.เล็งยื่นศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.ก.กองทุนฟื้นฟูฯ ขัด รธน.หรือไม่

การเมือง
27 ม.ค. 55
14:11
9
Logo Thai PBS
ส.ส.-ส.ว.เล็งยื่นศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.ก.กองทุนฟื้นฟูฯ ขัด รธน.หรือไม่

ส.ส.ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ระบุเป็นขั้นตอนการออกกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน และกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังพระราชกำหนดกู้เงิน 4 ฉบับของรัฐบาลมีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (27 ม.ค.) และต้องเร่งดำเนินการยื่นเรื่องก่อนที่รัฐบาลจะส่ง พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ความเห็นชอบ โดยนายกรณ์กล่าวว่า ในวันจันทร์นี้ (30 ม.ค.) จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก. 2 ฉบับคือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ วงเงินกู้ 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังจะกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยการออก พ.ร.ก.แทน พ.ร.บ. ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ถือเป็นการเลี่ยงการตรวจสอบโดยสภาฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เชื่อว่า พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับที่ยื่นตีความไม่เข้าข่ายการตราเป็น พ.ร.ก.เนื่องจากในแง่ของตัวกฎหมายที่บอกว่าเร่งด่วนทันที ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ขณะที่เนื้อหาของ พ.ร.ก.พยายามร่างเนื้อหาให้คล้ายกับ พ.ร.ก.กู้เงินในสมัยโครงการไทยเข้มแข็ง

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ในวันที่ 31 มกราคมนี้ กลุ่ม ส.ว.จะรวบรวมรายชื่อจำนวน 1 ใน 5 หรือ 30 คนขึ้นไป ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 2 ที่บัญญัติว่า การตรา พ.ร.ก.ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินและมีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ส่วน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศนั้น นายคำนูณระบุว่า สามารถเปรียบเทียบได้กับโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งในวันนี้มีเงินที่กู้ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เบิกใช้ถึง 60,000 ล้านบาท ทำให้เงินดังกล่าวมีต้นทุนที่ต้องเสียดอกเบี้ยจำนวนมาก

สำหรับขั้นตอนหลังการยื่นตีความ พ.ร.ก.กู้เงิน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้ว ฝ่ายค้านยืนยันว่า สภาผู้แทนราษฎรจะยังไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบได้ โดยจะต้องรอการตีความจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง