ยึดสปสช. กับบันไดอีก 3 ขั้น สู่หลุมดำประกันสุขภาพ หยุดปฏิรูป ปูทางเอกชน

30 ม.ค. 55
06:36
11
Logo Thai PBS
ยึดสปสช. กับบันไดอีก 3 ขั้น สู่หลุมดำประกันสุขภาพ หยุดปฏิรูป ปูทางเอกชน

โดย นายแพทย์พรเทพ โชติชัยสุวัฒน (tee_pc@yahoo.com) นักศึกษาปริญญาโทสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมืองอันเวอร์ป ประเทศเบลเยียม

เป็นไปตามแผนบันไดขั้นที่ 1 ในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ และอนุกรรมการชุดต่างๆของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครบทุกชุดไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555  อย่างรีบเร่ง  ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากเครือข่ายผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ เช่นเครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายโรคไต และชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งขาดหลักการเชิงจริยธรรมในการเลือกที่ไม่สามารถอธิบายเหตุผลของการเลือกแต่งตั้งบุคคลต่างๆได้ เป็นการตั้งโดยอำเภอใจ ยึดพวกมากลากไป ขาดการพิจารณาประเด็นสัดส่วนว่าควรมาจากองค์กร หรือหน่วยงานใด จำนวนเท่าใด และไม่ได้พิจารณาคุณสมบัติในสายงานที่เกี่ยวข้อง และผลประโยชน์ทับซ้อน รวมไปถึงเป็นเจ้าของปัญหาที่จะแก้ไขได้มากน้อยแค่ไหน

ยกตัวอย่างเช่น คณะอนุกรรมการด้านบริหารยุทธศาสตร์ ที่เปลี่ยนให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานอนุกรรมการเสียเอง ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ คำตอบชัดเจนว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากต้องเข้าใจก่อนว่าที่ผ่านมา สปสช.ทำหน้าที่เป็นองค์กรซื้อบริการ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรจัดบริการรายใหญ่ที่สุด  หลักการดุลและคานอำนาจของทั้งสององค์กรสำคัญมากต่อประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ และสำคัญมากต่อธรรมาภิบาลเกิดการคอรับชั่นได้ยาก  แต่ปัจจุบันปลัดกระทรวงมาเป็นผู้กำหนดกติกาใน สปสช. แล้วก็นำกติกาที่ตนกำหนดไปทำเอง เข้าข่ายชงเองกินเอง ผิดหลักการการคานอำนาจ   ที่ต้องแยกผู้ซื้อบริการ(purchaser) ออกจาผู้จัดบริการ(provider)  ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ที่ทั่วโลกยอมรับ ครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการถอยหลังลงคลองไปอีก 10 ปี รวบศูนย์อำนาจกลับสู่กระทรวงสาธารณสุขอย่างในอดีตก่อนที่จะมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การดำเนินการรุกคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ในขั้นที่ 2 ซึ่งเริ่มไปแล้วจากการเสนอของปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้หันกลับมาตัดเงินเดือนบุคลากรรวมในระดับประเทศ จากเดิมที่ตัดเงินในระดับโรงพยาบาล เงินเดือนค่าจ้างของบุคลากรเป็นต้นทุนที่สำคัญของระบบสุขภาพ  การจะหยุดไม่ให้โรงพยาบาลในเขตเมืองรับย้ายบุคลากรทั้งๆมีคนมากพอแล้ว  ก็ด้วยกลไกการตัดเงินเดือน กล่าวคือ หากรับย้ายได้คนเพิ่มก็ต้องรับภาระจ่ายเงินเดือนเขาด้วย  ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลในเขตเมืองคิดรอบคอบเรื่องจะรับย้าย เพราะเป็นต้นทุนที่ตนต้องจ่าย  แต่หากตัดเงินเดือนระดับประเทศเช่นที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอ  นั่นหมายถึง เป็นการย้ายเสรี เพราะได้คนเพิ่มแต่ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนเอง ใครจะไม่เอา ปัญหาสมองไหลจากชนบทที่เคยชะลอตัวก็จะกลับมาเป็นปัญหาใหญ่

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขแทบจะไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการกระจายบุคลากรไปสู่ชนบทอยู่แล้ว  การกระจายแพทย์และพยาบาลซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนในเขตชนบทได้ใช้บริการที่มีคุณภาพมากขึ้นอย่างเป็นระบบนั้น  กำลังจะถูกทำลายด้วยการตัดเงินเดือนในระดับประเทศ  

แม้ว่าจะมีการเพิ่มมาตรการในเชิงบวก แต่เป็นน้ำผึ้งอาบยาพิษ โดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวโดยภาพรวม   แต่งบประมาณที่เพิ่มเกือบทั้งหมดนั้นจะไปกระจุกตัวที่งบผู้ป่วยใน ละเลยงบประมาณผู้ป่วยนอกและการส่งเสริมป้องกัน  เน้นการชดเชยตรวจรักษาที่มีราคาแพงโดยขาดการประเมินความเหมาะสม เอื้อต่อการแทรกแซงหว่านล้อมจากบริษัทยา เหมือนในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงมากเพราะเน้นที่การรักษา แต่สถานะสุขภาพกลับมีผลลัพธ์ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค   จนรายจ่ายด้านสุขภาพเพิ่มมากจนระบบประกันสุขภาพไปไม่รอด  

และมีแนวโน้มที่ สปสช.ในการกำกับของกลุ่มแพทย์พาณิชย์  จะผลักดันให้นำระบบการจ่ายเงินผู้ป่วยในของกรมบัญชีกลาง ที่ดูแลระบบสวัสดิการข้าราชการอยู่ในปัจจุบัน  ที่ใช้อัตราการจ่ายของโรคเดียวกันไม่เท่ากันในโรงพยาบาลแต่ละประเภทมาใช้  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผ่าตัดไส้ติ่งที่โรงพยาบาลเอกชนกรมบัญชีกลางจะจ่ายเงินคืนโรงพยาบาลเอกชนรายละประมาณ 20,000 บาท  แต่หากผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัด กรมบัญชีกลางจะจ่ายคืนโรงพยาบาลของรัฐเพียง 6,500 บาท ทำไมต้องเอาภาษีประชาชนไปจ่ายแพงให้โรงพยาบาลเอกชน  นี่เป็นจุดอ่อนที่ขาดความเป็นธรรม (equity) อย่างยิ่งในการจ่ายงบประมาณ  และระบบที่ผลาญภาษีประชาชนเช่นนี้กำลังจะนำมาใช้ใน สปสช. ที่ถูกยึดไปเรียบร้อยแล้ว

เปรียบได้กับปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาที่กรุงเทพท่วม แต่ลดได้อย่างรวดเร็ว แต่จังหวัดปริมณฑล เช่น จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี ท่วมไม่ลดเป็นเวลานานกว่า  3 เดือน ในทำนองเดียวกันระบบสุขภาพ คนต่างจังหวัด  คนชนบท ก็ต้องเสียสละอีกเช่นเคย  ไม่สนับสนุน หรือ

 แน่นอนว่ายึดได้ถึงขนาดนี้แล้ว  ก็ต้องตามด้วยแผนขั้นที่ 3 คือการเปลี่ยนเลขาธิการ สปสช.  ซึ่งเป็นก้างชิ้นใหญ่และเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุดที่หลายฝ่ายอยากเปลี่ยนตัว  เพื่อให้ได้คนที่ยอมรับการทำกำไรของภาคเอกชน ให้ได้คนที่ยอมรับการใช้งบประมาณที่ประสิทธิภาพต่ำของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเป็นคนที่การเมืองสั่งได้ด้วย  คุณสมบัติเช่นที่ว่านี้ หาง่ายและเขามีตัวรอเสียบอยู่แล้ว

เลขาธิการคนใหม่ที่ถูกล็อคสเป็คคัดสรรมาแล้วก็จะมีหน้าที่ ยกเลิกประกาศมาตรการซีแอลยา เพระทำให้ราคาที่ติดสิทธิบัตรมีราคาถูกลง  เช่นยาต้านลิ่มเลือด ยาต้านมะเร็ง ยาต้านไวรัสเอดส์ เพื่อเอื้อประโยชน์กับบริษัทยาจะได้ขายยาแพงได้อีกครั้ง เสมือนการโยกเงินภาษีที่มีมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาทเข้ากระเป๋าบริษัทข้ามชาติ โดยที่มีคนมีอำนาจรู้เห็นเป็นใจ  นอกจากนี้ยังมีภารกิจปรับเปลี่ยนเงื่อนไข โครงการผ่าตัดตาต้อกระจก  การล้างไต และอีกหลายสิทธิประโยชน์ให้เอื้อกับโรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น  ในที่สุดระบบประกันสุขภาพไทยที่พัฒนามาไกลก็จะล่มสลาย เพราะต้นทุนแพงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล งบที่มีก็จะจัดบริการได้แย่ลง ใกล้เคียงการรักษาแบบอนาถาอย่างในอดีต  ประชาชนหมดศรัทธาต่อระบบสุขภาพของรัฐ ดิ้นรนเข้าโรงพยาบาลเอกชน

แล้วก็เข้าสู่แผนขั้นที่ 4  คือปล่อยผีให้ระบบเอกชนเข้ามาทำกำไรกับความเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ เพิ่มภาระหนี้สินกับประชาชนจากปัญหาสุขภาพกลับมาอีกครั้งอย่างในอดีต ขาดการปฏิรูประบบสุขภาพ ขาดการกระจายทรัพยากร ปล่อยให้กระจายเองตามกลไกตลาดที่มีเงินเป็นตัวนำ   ความถูกต้องและจริยธรรมเก็บไว้ในลิ้นชัก   

ขอให้กลุ่มรากหญ้าประชาชน 15 ล้านเสียงที่เลือกรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา บูณณศิริ ได้รับรู้ด้วยว่า นักการเมืองเหล่านี้กำลังจะมาบิดเบือนหลักการระบบประกันสุขภาพ ปูทางให้อำนาจทุน ที่พรรคไทยรักไทยผู้พี่เขียนด้วยมือ แต่พรรคเพื่อไทยผู้น้องลบด้วยเท้า     อีกทั้งยังหยุดการปฎิรูประบบสุขภาพ ทำลายการกระจายทรัพยากรไปสู่ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะชาวชนบท  จนต้องตั้งคำถามว่า พรรคเพื่อไทยหรือพรรคเพื่อใครกันแน่
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง