มั่นใจพ้นระบาด“ไข้หวัดนก”จีนตายกว่า200 อช.ระบุไม่พบนกอพยพ-เฝ้าระวังเพื่อนบ้าน

27 พ.ย. 58
00:49
198
Logo Thai PBS
มั่นใจพ้นระบาด“ไข้หวัดนก”จีนตายกว่า200 อช.ระบุไม่พบนกอพยพ-เฝ้าระวังเพื่อนบ้าน

กรมควบคุมโรคระบุควบคุมไข้หวัดนก ปี 2558 ได้ แม้พบระบาดทั้งคนและสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน เผยมาตรการเฝ้าระวัง 3 หน่วยงานเข้มแข็ง แต่เตือนไม่ควรประมาท หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ป่าระบุยังไม่มีรายงานนกอพยพ ที่แพร่เชื้อในปีนี้ หลังพบระบาดเมื่อปี 2551

วันนี้ (27 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า เกือบ 10 ปี ที่ประเทศไทยไม่มีรายงานการติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 นับตั้งแต่พบการติดเชื้อในรายสุดท้ายเมื่อปี 2549 นอกจากนี้ยังไม่พบการระบาดของเชื้อในสัตว์ปีกตั้งแต่ปี 2551 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงสั่งเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศ ที่ยังคงพบระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงวันที่ 13 พ.ย.2558 พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน 16 ประเทศทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกาและบางส่วนของเอเชีย โดยมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 844 คน เสียชีวิต 449 คน ขณะที่ในปี 2557 พบว่า โรคไข้หวัดนกระบาดในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยจำนวนมากโดยติดทั้งคนและสัตว์ เช่น ประเทศจีน เกาหลีใต้ กัมพูชา ลาว ไต้หวัน และเกาหลีเหนือ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากเหตุการณ์การระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งในสัตว์ปีกที่เลี้ยงในบ้าน ฟาร์ม นกประจำถิ่น และนกอพยพ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข ปศุสัตว์ กรมอุทยานสัตว์ป่าฯ มีเฝ้าระวังในสัตว์ปีก ที่ปลอดภัยขึ้น อย่างเช่น ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์จะเลี้ยงโดยการใช้ระบบปิด อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกของไทยปี 2558 ยังไม่มีสัญญาณความผิดปกติ และยังไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก เนื่องจากหลายพื้นที่อากาศหนาวเย็น และเริ่มมีนกอพยพหนีหนาวเข้ามาในประเทศไทย จึงอาจมีความเสี่ยงที่อาจให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อได้โดยเฉพาะตามบริเวณแนวชายแดน

รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุอีกว่า เชื้อไข้หวัดนกที่สามารถติดมาสู่คนได้ คือ สายพันธุ์ H5N1 และ สายพันธุ์ H7N5 นอกนั้นเป็นสายพันธุ์ที่พบในสัตว์ปีก แต่ยังไม่มีรายงานระบาดมาสู่คน แม้จะพบติดเชื้อในคนได้แต่ก็ไม่มาก และยังไม่มีการพบการระบาดของเชื้อในไทยมาเกือบ 10 ปี อย่างไรก็ดีการระบาดมักพบในช่วงปลายฝนต้นหนาว ทั้งนี้การติดเชื้อไข้หวัดนกในคน เกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ป่วยทางตรง และทางอ้อมจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของสัตว์ที่ป่วย โดยเมื่อสัมผัสสัตว์ที่ป่วยแล้วมักเอามือมาสัมผัสกับหน้า จมูก หรือปาก ตนเอง ทำให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

“ไข้หวัดนกถือเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีการระบาดหนักในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม จีน และไต้หวัน เป็นต้น รวมทั้งการระบาดในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งยังพบมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ต่างๆ อยู่” รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

นพ.โอภาสกล่าวถึงวิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไข้หวัดนกไว้ว่า ไม่สัมผัสสัตว์ปีกที่ตายโดยตรง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกป้องกัน และควรรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก งด การประทานเนื้อไก่ เป็ด ที่กึ่งสุกกึ่งดิบ เนื่องจากเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจปนเปื้อนมา ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย หรือพยาธิ และห้ามนำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมารับประทาน นำไปให้สัตว์อื่นกิน ซึ่งหากพบการตายผิดปกติของสัตว์ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปตรวจสอบ หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือหากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ปีกป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก รายงานผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ A (H5N1) ทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 จนถึงวันที่ 20 พ.ย.2558 พบรายงานผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อโรคไข้หวัดนก 844 ราย เสียชีวิต 449 ราย พบใน 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน บังกลาเทศ กัมพูชา แคนนาดา จีน จิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี และเวียดนาม

ด้านน.ส.ษุษบง กาญจนสาขา หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์การอพยพของสัตว์ปีกในปี 2558 ว่า ปีนี้ถือว่าอยู่ในสภาวะปกติ และถึงแม้จะไม่พบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีก มาตั้งแต่ปี 2551 กรมอุทยานฯ ก็ยังคงเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์ปีกใน 2 ช่วง ตั้งแต่ ม.ค.-ก.พ. ซึ่งเป็นช่วงที่นกอพยพหนีหนาวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งในแต่ละปีการอพยพของนกจะช้าหรือเร็วสภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญ และอีกช่วงคือ มิ.ย.-ก.ค.

หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กล่าวอีกว่า กรมอุทยานฯ ได้มอบหมายให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสาขาจำนวน 22 หน่วย และหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่ด้านวิชาการฯ ประจำสถานีวิจัยสัตว์ป่าอีก 8 หน่วย ทำหน้าที่ทำการตรวจเก็บอุจจาระสัตว์ปีก (CloacalSwab) ของนกชนิดเดียวกัน 3 ตัว เป็น 1 ตัวอย่าง เฉลี่ยปีละ 2,500 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ เฝ้าระวัง ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด ทั้งในกลุ่มที่เป็นนกอพยพ และนกประจำถิ่น ที่เคยมีรายงานว่าเคยมีการพบเชื้อในนกกลุ่มเหล่านั้น อย่างนกเขา นกพิราบ นกเอี้ยง นกกระจอก นกกระจิ๊บ และก็กลุ่มนกน้ำ นกกระยาง นกเป็ดแดง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในบางปีหากมีความเสี่ยง ว่ามีการระบาดในพื้นที่ต่างๆ เช่น บริเวณชายแดน ก็จะมีเจ้าหน้าที่ออกเก็บตัวอย่างเพิ่มขึ้น บริเวณจังหวัดที่มีความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้การควบคุมเกิดประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าไม่มีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย แต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพและการวางแผนครอบครัวของประเทศจีน (National Health and Family Planning Commission of China) รายงานพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H7N9 เพิ่มอีก 2 ราย รวมแล้วผู้ป่วย 681 ราย เสียชีวิต 275 ราย

ยไมพร คงเรือง
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

www.facebook.com/ThaiPBSNews
fb.com/ThaiPBSNews



ข่าวที่เกี่ยวข้อง