ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นตอนการแก้แค่พิธีกรรม

8 ก.พ. 55
13:47
7
Logo Thai PBS
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขั้นตอนการแก้แค่พิธีกรรม

กลุ่ม นปช. และพรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ และก่อนหน้านี้มีร่างแก้ไขฉบับของภาคประชาชนถูกยื่นไว้แล้ว 2 ฉบับ โดยสาระสำคัญของร่างทั้งหมดคือการเสนอแก้มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งส.ส.ร. ซึ่ง นักวิชาการ และ อดีตส.ส.ร. เชื่อว่ากลไกการพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ยึดเสียงข้างมาก ส่งผลให้ที่มาของ ส.ส.ร.เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่พรรคเพื่อไทยกำหนดไว้ ซึ่งคุณเสาวลักษณ์ วัฒนศิลป์ จะวิเคราะห์ถึงบริบทการผลักดันตามขั้นตอนที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช.ประกาศไว้แล้วถึงแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 และวันนี้ผลของการผลักดันเริ่มมีความชัดขึ้น เพราะร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ถูกทยอยยื่นให้สภาผู้แทนราษฎรบรรจุเป็นวาระการพิจารณาแล้ว และร่างทุกฉบับเหมือนจะถูกกำหนดให้เป็นไปในทางเดียวกัน คือ เสนอแก้มาตรา 291 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร.

เรียกได้ว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับประชาชน ถึงมือประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 2 ฉบับ คือจากกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า "สภาประชาชนไทย" ยื่นแก้มาตรา 291 โดยเสนอให้มี ส.ส.ร.375 คน จากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ ส.ส. และร่างของกลุ่มคนเสื้อแดงภาคเหนือที่เสนอให้แก้ มาตรา 291 และเห็นควรมี ส.ส.ร. 101 คน จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และการคัดเลือกนักวิชาการอีก 24 คน

ส่วนอีกฉบับก็ถือได้ว่าเป็นร่างฉบับประชาชนเช่นกัน โดยกลุ่ม นปช.เตรียมยื่นร่างให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเที่ยงวันพรุ่งนี้ พร้อมเสนอให้มี ส.ส.ร. 99 คน จากการเลือกตั้งที่กำหนดพื้นที่ 1 ส.ส.ร. ต่อประชากร 400,000 คน ขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทยจะยื่นในวันพรุ่งนี้เช่นกัน แต่เห็นว่า ส.ส.ร. ควรมี 99 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน และรัฐสภาเลือกนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน

ตามกลไกการพิจารณาแก้ไขกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรไม่เพียงแค่ขั้นตอนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายที่ถูกเสนอเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่จะสรุปความเป็นเอกฉันท์

จึงมีกระแสของการวิ่งเต้นขอแรงสนับสนุน เพื่อเป็น ส.ส.ร. ขับเคลื่อนเจตนา และเป้าหมายของรัฐบาลในพรรคเพื่อไทยและของกลุ่ม นปช.กันเกิดขึ้นแล้ว แต่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทยปฏิเสธข้อเท็จจริง ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ย้ำที่จะไม่โหวตสนับสนุน

นักวิชาการ และอดีต ส.ส.ร. ไม่เชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นเกิดจากเจตนาของการสร้างประชาธิปไตย และเห็นตรงกันว่าน่าจะมีนัยทางการเมืองแอบแฝงทั้งในแง่ของเนื้อหา และภาพลักษณ์ โดยภาพลักษณ์นั้น นายเสรี สุวรรณภานนท์ เชื่อว่ามีการผลักดันแก้รัฐธรรมนูญเพราะต้องการล้างภาพอันเป็นเหตุให้เกิดการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ส่วนเจตนาไม่มีอะไรมากไปกว่าการไม่พึงพอใจเท่านั้น

ไม่ต่างกับอาจารย์พรชัย เทพปัญญญา ที่มั่นใจว่าเจตนาของการแก้คือการล้างกิจที่เกิดจากผลพวงของรัฐประหาร ส่วนเนื้อหาสาระที่ต้องการแก้ไขทั้งนักวิชาการ และอดีต ส.ส.ร. เชื่อว่ามีการตั้งโจทย์และเป้าหมายไว้แล้ว ยังคงเหลือแต่ขั้นตอนต้องยึดกลไกเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นช่องว่างให้แฝงเจตนาและประโยชน์ทางการเมือง

เมื่อมีข้อสังเกต และข้อเสนอเกิดขึ้น รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรควรตระหนักถึงการขับเคลื่อนการแก้รับธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ใช่เพียงใช้ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น หากแต่ต้องผลักดันให้หลุดพ้นจากข้อครหาว่าใช้ "กลไกและขั้นตอน" ที่มีอยู่เพียงแค่ "พิธีกรรม" แม้จะมีโจทย์ และเป้าหมายอยู่แล้วก็ตาม
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง