อดีตเลขาฯ ยูเอ็น หนุนแผนสร้างปรองดองของนายกฯ

การเมือง
17 ก.พ. 55
09:45
10
Logo Thai PBS
อดีตเลขาฯ ยูเอ็น หนุนแผนสร้างปรองดองของนายกฯ

“โคฟี่ อันนัน” อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และ “มาร์ตติ อาห์ติซาริ” อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ เข้าหารือกับ “ยิ่งลักษณ์” ถึงแนวทางในการสร้างความปรองดองในไทย

วันนี้ (17 ก.พ.) เวลา 13.30 น. นายคณิต ณ นคร และนายกิตติพงษ์ กิติยารักษ์คณิต ณ นคร และนายกิตติพงษ์ กิติยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้นำนายโคฟี่ อันนัน (Mr.Kofi Annan) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และนายมาร์ตติ อาห์ติซาริ (Mr.Martti Ahtisaari) อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแนวทางการสร้างความปรองดองในประเทศไทย ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และนายมาร์ตติ อาห์ติซาริ อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ได้เดินทางมาเยือนไทยตามคำเชิญของ คอป. ระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.55 เพื่อให้คำปรึกษาแก่ คอป. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับ และใช้โอกาสนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทั้ง 2 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงระดับโลกในการสร้างความปรองดองในหลายประเทศ

ระหว่างการสนทนา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการให้ความสำคัญและนโยบายเพื่อการสร้างความปรองดองของประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า การสร้างความปรองดองในชาติเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด และรัฐบาลได้ยึดมั่นที่จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ยึดหลักนิติธรรม กระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง เป็นการแสดงความรับผิดชอบและเสียใจของรัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่แบ่งฝ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลมีความชัดเจนและเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า การปรองดองในชาติเป็นส่วนสำคัญในการให้ประเทศไทยก้าวต่อไปข้างหน้า ซึ่งนายมาร์ตติ อาห์ติซา และนายโคฟี่ อันนัน ต่างเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี และเห็นว่า คอป.มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความปรองดอง และยินดีที่ได้เห็นการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล เนื่องจากการสร้างความปรองดอง จะสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือและร่วมใจจากทุกภาคส่วน และการตระหนักถึงความสำคัญของสาธารณชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า การแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์จากบุคคลทั้ง 2 คน จะมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการปรองดองของไทย เนื่องจากนายกรัฐมนตรีประสงค์ให้กระบวนการปรองดองในประเทศได้รับการยอมรับจากในประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง