รายการสัมภาษณ์นักโทษประหารของจีนถูกงดออกอากาศกระทันหัน

Logo Thai PBS
รายการสัมภาษณ์นักโทษประหารของจีนถูกงดออกอากาศกระทันหัน

รายการสุดดัง Interviews Before Execution โดนหยุดออกอากาศกระทันหัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ผลิตรายการเผยมีปัญหาภายในทีมผลิต แต่เบื้องหลังการสัมภาษณ์วาระสุดท้ายของชีวิตนักโทษ ได้ถูกถ่ายทำเป็นสารคดีชื่อ Dead Men Talking ที่ฉายทั้ง BBC และ PBS

รายการ Interviews Before Execution ที่ได้รับความนิยมในจีนอย่างมากได้นำนักโทษประหารมาสำนึกผิดต่อหน้าโทรทัศน์ ก็โดนหยุดออกอากาศกระทันหันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเบื้องหลังการสัมภาษณ์วาระสุดท้ายของชีวิตนักโทษ ได้ถูกถ่ายทำเป็นสารคดีสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก

แม้อายุเพียง 27 ปี แต่หนุ่มมหาวิทยาลัยอย่าง ฉังผัง ก็ไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตที่เหลือ เมื่อแผนขโมยเงินปู่ย่าผิดพลาดจนกลายเป็นการฆาตกรรมคนทั้งสอง ทำให้เขาต้องโทษประหารชีวิต ความสำนึกผิดของฆาตกรหนุ่มถูกถ่ายทอดในรายการเรียลิตี้ ทอล์ค โชว์ Interviews Before Execution ที่ผู้ชมจะได้เห็นการเปิดใจของนักโทษแดนประหาร แม้ออกอากาศเพียงในมณฑลเหอหนาน แต่ก็มีจำนวนผู้ชมมากถึง 40 ล้านคนตลอด 5 ปี และหยุดออกอากาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เบื้องหลังการถ่ายทำได้ถูกสร้างเป็นสารคดีในชื่อ Dead Men Talking ที่ออกฉายทั้งในอังกฤษและอเมริกาทางสถานี bbc และ pbs

Interviews Before Execution มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมเห็นถึงผลของการกระทำผิด และสำนึกถึงคุณค่าของชีวิต จากคำบอกเล่าที่ถูกถ่ายทอดโดยนักโทษประหาร ซึ่งมีศาลสูงของเหอหนานเป็นผู้คัดเลือกนักโทษมาออกรายการมาตลอด 5 ปี โดยผู้ผลิตรายการเผยเหตุผลที่หยุดสร้างกะทันหันมาจากปัญหาภายในทีมผลิต โดยจะนำรายการเกี่ยวกับกฏหมายมาออกอากาศแทน

ดิงหยู่ พิธีกรของรายการที่ได้ฉายาว่าโฉมงามกับอสูร ผู้ผ่านประสบการณ์สัมภาษณ์นักโทษประหารมากว่า 200 ราย ยอมรับว่าแม้ในสายตาบางคนจะเป็นเรื่องโหดร้ายในการบังคับให้ใครซักคนต้องมาพูดถึงความผิดพลาดของตนในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่นักโทษหลายคนที่เธอได้คุยด้วยรู้สึกยินดีกับโอกาสในการเปิดเผยความในใจที่ไม่เคยบอกให้ใครรับรู้มาก่อน

ในจีนมีคดีอาญาถึง 55 คดีที่นำไปสู่การประหารชีวิต ทั้งฆาตกรรม, ก่อกบฎ, ติดสินบนเจ้าหน้าที่ และลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฏหมาย ทำให้จีนเป็นประเทศที่มีนักโทษถูกประหารชีวิตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 4,000 พันราย จนมีการเรียกร้องให้จีนยกเลิกโทษประหาร ทั้งจากนานาชาติ และกลุ่มผู้พิพากษาหลายคนภายในประเทศ ที่ยอมรับว่าชีวิตที่ต้องจบลงเพียงเพราะคำตัดสินในชั้นศาลเป็นเรื่องที่โหดร้าย และการประหารชีวิตคนก็เป็นเรื่องเลวร้ายไม่ต่างจากการก่ออาชญากรรม แต่ยอมรับว่าจีนคงต้องใช้เวลาอีกซักพักกว่าประเทศจะพร้อมในการยกเลิกโทษประหารอย่างถาวรในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง