ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยกคำร้อง "บุญจง" ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

20 มี.ค. 55
14:00
23
Logo Thai PBS
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยกคำร้อง "บุญจง" ปฏิบัติหน้าที่ต่อ

ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งยกคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.ยื่นฟ้องนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย เพื่อเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง หรือให้ใบแดง พร้อมกับการตัดสินทางการเมือง 5 ปี แต่หลังไต่สวน และพิเคราะห์หลักฐานกลับไม่พบความเกี่ยวข้องกับการจัดเลี้ยง และจูงใจให้เลือกตามข้อกล่าวหา หากแต่ผลแห่งคดีที่ว่านี้ ไม่เพียงทำให้นายบุญจงประกาศเดินหน้าทางการเมืองด้วยการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในทันทีเท่านั้น แต่ยังมีเงื่อนไขที่บ่งชี้ถึงอนาคตของพรรคภูมิใจไทยด้วย

คดีใบแดง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองที่ว่านี้มีเหตุที่ชี้ให้เห็นถึงอนาคตของพรรคภูมิใจไทย แม้ผลแห่งคดีจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเส้นทางทางการเมืองของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทยคนนี้ก็ตาม โดยต้นสายปลายเหตุของเรื่องนี้เกิดจากผลพวงภรรยาถือครองหุ้นอันเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้พ้นจากความเป็น ส.ส. หลังจากนั้นก็ลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2553 ทั้งที่ยังนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แม้จะกระแสให้ลาออก แต่นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ก็ทานกระแสที่เกิดขึ้น และนี่เป็นช่องว่างของกฎหมายที่เป็นเหตุให้ต้องชี้แนวทางการเมืองของนายบุญจง

และด้วยเหตุที่สวมหมวก 2 ใบ จึงกลายเป็นเหตุของการเพ่งเล็ง และท้ายที่สุดก็กลายเป็นข้อครหาให้คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กกต.ว่านายบุญจงจัดเลี้ยง และจูงใจผู้มีสิทธ์เลือกตั้งร่วม 300 คน จึงเข้าข่ายกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. หลังสอบสวน กกต.มีมติ 3 ต่อ 2 ให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหรือให้ใบแดง และยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

ร่วม 3 เดือนของการไต่สวนพยานบุคคล และพิเคราะห์พยานหลักฐานแวดล้อม วันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งอ่านคำตัดสิน "ยกคำร้อง" ซึ่งไม่เพียงแต่จะชี้ขาดอนาคตของนายบุญจงเท่านั้น แต่ยังมีภาพที่ฉายให้เห็นถึงอนาคตของพรรคภูมิใจไทย

ที่ว่าอนาคตของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ คือยังคงมีสิทธิ์ทางการเมืองตามกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ หลังศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสิน "ยกคำร้อง" ของ กกต. นายบุญจง ก็ประกาศที่จะทำหน้าที่ส.ส.ต่อไป แต่ที่บอกว่าผลแห่งคดีนี้ยังชี้ให้เห็นอนาคตทางการเมืองของพรรคภูมิใจไทยด้วยนั้น คงต้องบอกว่าการก่อเกิดขึ้นของพรรคภูมิใจไทยมาจากเจตนาทางการเมืองของบุคคล 4 กลุ่มด้วยกัน

โดย 4 กลุ่มที่ว่านั้น มีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นแกนนำหลักในการสนับสนุนและเสนอแนะแนวทางทางการเมืองให้กับพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล นายเนวิน ก็เป็นวิทยากรแนะแนวให้กับรัฐมนตรีของพรรค ขณะที่อีก 3 กลุ่ม คือนายสรอรรถ กลิ่นประทุม แกนนำกลุ่มวังน้ำเย็นเดิม, นายสุชาติ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำเดิม และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัฌชิมา

แต่เมื่อสถานะของพรรคตกเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และอยู่ในมุมที่ถูกเรียกว่าฝ่ายตรงข้ามกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีรายงานว่า ส.ส. ใน 3 กลุ่มหลังนี้ โดยเฉพาะกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เตรียมจะย้ายกลับไปสังกัดพรรคเพื่อไทย งานนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ทางการเมืองในห้วงที่แกนนำ และ ส.ส.ในกลุ่มรวมแล้ว 7 - 8 คน ถึงคราวต้องตัดสินใจแล้วด้วย เพราะเมื่อนายบุญจง แกนนำคนสำคัญปลอดโปร่งจากข้อกล่าวหา ก็จำเป็นต้องขับเคลื่อนงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะความชัดเจนว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือเป็นพรรคสนับสนุนรัฐบาล และนับจากนี้ไปยิ่งต้องชัดขึ้นอีก เมื่อนายเนวิน ชิดชอบ ผู้สนับสนุนหลักจะพ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ในเดือนพฤษภาคมนี้ด้วย
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง