ประติมากรรมหนังสือแกะสลัก

Logo Thai PBS
ประติมากรรมหนังสือแกะสลัก

เมื่อหนังสือกระดาษเข้าสู่ยุคถดถอยจากการมาถึงของโลกดิจิตอล เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินชาวแคนาดา นำหนังสือเล่มหนา มาเป็นวัตถุดิบแกะสลัก จำลองสถานที่ขึ้นมาแบบสามมิติ ซึ่งกว่าจะทำได้ ต้องผ่านการสั่งสมประสบการณ์และเทคนิคเกือบ 30 ปี

เทือกเขาสูงต่ำจากหนังสือชุดประวัติศาสตร์อเมริกา มรดกโลกผาหินหลงเหมินที่สลักพระพุทธรูปได้อย่างวิจิตรของจีน หรือสวนหินเซ็นของวัดเรียวอันจิ ในเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น คือประติมากรรมส่วนหนึ่งในชุด The Great Wall ฝีมือของกี ลารามี ศิลปินชาวฝรั่งเศส-แคแนเดียนที่หยิบเอาหนังสือเก่าเล่มหนามาเป็นวัตถุดิบแกะสลัก สะท้อนภาวะเสื่อมถอยของยุคสิ่งพิมพ์กระดาษ เมื่อถูกแทนที่ด้วยข้อมูลแบบดิจิตอล เช่นเดียวกับภูมิทัศน์เทือกเขาใหญ่บ้างเล็กบ้างในผลงานหลายชิ้น เป็นตัวแทนของการถูกกัดกร่อนจนเหลือเพียงเนิน และกลายเป็นทุ่งราบเรียบในที่สุด สื่อถึงความไม่จีรังของสรรพสิ่ง

กี ลารามี ได้ความคิดการสลักหนังสือด้วยเครื่องพ่นทรายระหว่างใช้อุปกรณ์ชิ้นนี้ทำงานประติมากรรมจากอลูมิเนียม โดยนำหนังสือเข้าเครื่องอัดให้ได้เนื้องานที่แน่นเหมือนไม้ก่อนจะลงมือแกะสลัก ศิลปินวัย 54 ปี เคยทำงานศิลปะมาแล้วเกือบทุกแขนงทั้งกำกับละครเวที, แต่งเพลง, วาดภาพ และเขียนหนังสือ โดยผสมผสานความสนใจด้านมานุษยวิทยา ตลอดจนวัฒนธรรมชาติพันธุ์ ไว้ในผลงานตลอดเกือบ 3 ทศวรรษมานี้ ซึ่งประสบการณ์ที่ผ่านมาตลอด 30 ปีมีผลอย่างมากต่อการผสมผสานเทคนิคและแนวคิด เช่นการเลือกใช้ชุดหนังสือสารานุกรม นอกจากเอื้อให้สร้างผลงานขนาดใหญ่ชุดความรู้ที่แทบไม่มีใครเปิดอ่านอีกต่อไป ยังสื่อความหมายได้ดีโดยไม่ต้องอาศัยคำอธิบาย

กี ลารามี บอกว่า เขาไม่สามารถประมาณได้ว่าใช้เวลาเฉลี่ยในการสร้างผลงานเท่าไร เพราะมีตั้งแต่สองวันจนถึงหลายปี บางชิ้นคิดว่าเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่รู้สึกว่ายังไม่ได้ให้สิ่งที่อยากจะสื่อออกไปจึงต้องกลับมาสานต่อด้วยวิธีใหม่ ซึ่งเขาคิดว่าวิธีการสร้างผลงานนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แม้ว่าจะเป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยที่สุดก็ตาม

หนังสือถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์แห่งปัญญามานานหลายศตวรรษ จึงเป็นวัตถุดิบแฝงความหมายที่ถูกหยิบมาสร้างผลงานประติมากรรมกันอย่างหลากหลายในวงการศิลปะร่วมสมัย เช่น Yvette hawkins ศิลปินสาวชาวอังกฤษ ใช้วิธีพับกระดาษทีละหน้าจนหนังสือกลายเป็นวงกลมปิดทับหน้าปก สื่อถึงศิลปะการพับกระดาษในอดีตที่มักเป็นเรื่องของผู้หญิง ขณะที่ชื่อของผู้ชายมักจะได้อยู่บนปกหนังสือ ขณะที่ Brian Dettmer ใช้เพียงคัตเตอร์ธรรมดา แกะหนังสือเก่าเป็นชั้นๆ เน้นภาพและตัวหนังสือบางประโยค จนกลายเป็นงานศิลปะสามมิติอันน่าทึ่ง ซึ่งศิลปินชาวอเมริกันบอกว่าขณะแกะก็เหมือนการอ่านหนังสือซึ่งเขาไม่รู้ว่าอะไรจะอยู่หน้าถัดไป

อีเวท ฮอว์กินส์หนึ่งในศิลปินยอมรับว่า ตอนแรกก็รู้สึกผิดไม่น้อยที่ทั้งพับทั้งตัดหนังสือ แต่ศิลปินส่วนใหญ่จะใช้เฉพาะหนังสือมือสองหรือที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งเธอมองว่าเหมือนการให้ชีวิตใหม่กับหนังสือเหล่านี้นั่นเอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง