บทบาท "พล.อ.สนธิ-เสธ.หนั่น" ในเวทีปรองดอง มีอะไรแอบแฝง

22 มี.ค. 55
14:56
16
Logo Thai PBS
บทบาท "พล.อ.สนธิ-เสธ.หนั่น" ในเวทีปรองดอง มีอะไรแอบแฝง

การสร้างความปรองดองในวันนี้ไม่เพียงแค่ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ฝ่ายบริหารที่จะต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและบ้านเมืองที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยความสงบสุข แต่ข้อเสนอแทบทุกเส้นทางที่จะก้าวไปสู่ความปรองดองมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง และ ถูกตั้งคำถามถึงประโยชน์ที่แอบแฝง แต่จะมีฝ่ายใดและบุคคลใดบ้าง รวมถึงใครมีส่วนได้ส่วนเสียกับการสร้างความปรองดองอย่างไร

  

<"">
  
<"">

โดยเสนอทั้งของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนาในเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นต่อผลการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่ง พล.ต.สนั่น ได้ซักถาม พล.อ.สนธิ โดยถามถึงเบื้องหลังเหตุรัฐประหารเมื่อปี 2549 แต่ พล.ต.สนั่น ใช้ คำว่า "ใช่ตัวท่านเองหรือไม่ ที่มีเหตุจูงใจส่วนตัว" หรือแม้แต่จะถามว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีทราบเรื่องหรือไม่ พล.ต.สนั่น ใช้คำว่า "ท่านเคยได้เข้าพบและแจ้งเรื่องก่อนหน้านั้นหรือไม่"

และข้อสุดท้าย พล.ต.สนั่น ยังใช้คำว่า ระหว่างเกิดความวุ่นวาย "เคยขอให้ท่านออกมาพูดความจริง" จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่า ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบ แต่กำลังชี้บางอย่างให้เห็น

ขณะที่ พล.อ.สนธิ ยอมรับว่า รู้สึกละอายกับอดีตดังนั้นการรับบทบาทในวันนี้ไม่น่าจะต่างไปจากการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองขึ้นมาใหม่ แต่ พล.ต.สนั่น ตั้งคำถามนี้ในจังหวะที่มีข่าวออกมาว่า พล.ต.สนั่น เคยได้รับการวางตัวให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติที่ พล.อ.สนธิ นั่งอยู่นั่นเอง

แต่เมื่อสภาฯเห็นชอบในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ หากแต่จะนั่งประชุม และ สรุปข้อเสนอออกมา ดูจะไร้ซึ่งหลักการและทฤษฎีที่จะนำมาซึ่งความปรองดองได้ พล.อ.สนธิ จึงส่งเรื่องให้สถาบันพระปกเกล้าศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการ

โดยมีเป้าหมายในการปรับปรุง,แก้ หรือเสนอกฎหมาย เพื่อความปรองดอง จึงตกไปอยู่ที่ รศ.วุฒิสาร ตันไชย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้วิจัย ซึ่งวันนี้ไม่เพียงแต่กระแสคันค้านผลการวิจัยเท่านั้น แต่ยังมีกระแสด้านลบที่โจมตีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการไปสอบถามความเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเพียงลำพัง ตามด้วยข้อครหาเรื่องธุรกิจส่วนตัวที่ทับซ้อนกับหน้าที่อีกด้วย นอกจากนี้ยังไม่นับรวมข้อสังเกตที่ ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโน เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ไม่รับบทบาทนี้ด้วยตนเองอีกด้วย

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กับเรื่องนี้ ไม่แค่ปกป้องผลประโยชน์เพื่อส่วนรวม แต่เพราะประชาธิปัตย์เป็นอดีตรัฐบาลที่อยู่ในเหตุการณ์วิกฤตการเมือง ปี 2553 และ เป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย และ มีหัวหน้าพรรคเป็นอดีตผู้นำฝ่ายค้าน ร่วม 8 ปีระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญแนวทางปรองดองที่ถูกเสนอนั้นกลับไม่ตรงกับความเชื่อของพรรคประชาธิปัตย์

 
เรื่องในที่แจ้งอาจมีข้อสังเกตให้สังเคราะห์ไปได้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องลับอาจจะยาก หากผู้ที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจไม่เปิดเผยออกมา แต่จะว่าไปแล้วใครจะมีส่วนได้ส่วนเสียคงไม่สำคัญเท่าเป้าหมายของ สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ที่บางกรณีดำเนินการกันไปแล้ว

อาทิ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แม้จะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของร่างออกมา แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี มีเจตนาชัดว่าจะนำ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับไทย ระบุว่า ตัวร่างนั้นเสร็จแล้วรอเพียงจังหวะเวลาที่จะเสนอ โดย ส.ส. เท่านั้นคาดการณ์น่าจะไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย.น่าจะได้เห็น

ขณะที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสภาได้รับหลักการไปแล้ว แม้วันนี้จะยังไม่ได้ข้อสรุปในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่มาของส.ส.ร.ว่าจะมี 99 คนหรือมากกว่านั้น แต่ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายยืนยันที่จะสรุปให้ได้ภายในสัปดาห์นี้

สำหรับประเด็นข้อเสนอสถาบันพระปกเกล้าอาจตกอยู่ในกระแสของการถกเถียงถึงความเหมาะสม แต่ผลพวงจากข้อเสนอบางส่วนถูกขับเคลื่อนไปแล้ว จะเหลือแต่ว่าชอบธรรมในการผลักดันว่า ประโยชน์นั้นตกอยู่กับประชาชน หรือ บ้านเมือง ตามคำกล่าวอ้างหรือไม่เท่านั้น 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง