มศว เผยจุดยืนเน้นวิจัยชุมชน สร้างความสุขเพิ่มคุณภาพชีวิตสำคัญไม่น้อยกว่ามีชื่อติดอันดับโลก

สังคม
26 มี.ค. 55
06:06
21
Logo Thai PBS
มศว เผยจุดยืนเน้นวิจัยชุมชน สร้างความสุขเพิ่มคุณภาพชีวิตสำคัญไม่น้อยกว่ามีชื่อติดอันดับโลก

อันดับโลก worldclass university ไม่จำเป็นเท่าคุณภาพชีวิตที่ดี นักวิจัยแนะ ชุมชนต้องบอกว่าต้องการอะไร

ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวเปิดงานสัมมนาวิชาการเรื่องวัฒนธรรมและศิลปะ : เพื่อเสริมสร้างชุมชนสู่การพัฒนาประเทศ ว่าในสถาบันการศึกษามีองค์ความรู้มากมายซึ่งมาจากการทำงานวิจัย  สร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งการจะนำความรุ้ใหม่ๆ ไปใช้ในด้านการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่คุ้มค่า แต่ทำอย่างไรความรู้ใหม่ๆ จะนำไปสู่การบริการวิชาการแก่ชุมชนแก่สังคม และต่อยอดความรู้ให้มีความกว้างและมิติที่หลากหลายมากขึ้น การบริหารมหาวิทยาลัยในขณะนี้ได้ผนวกภารกิจ การเรียนรู้ การวิจัย บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม ตลอดถึงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรรมให้มีความเชื่อมโยงกันและกัน โดยไม่ใช้วิธีแยกส่วนในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการอนุรักษ์วิถีชุมชนริมคลองแสนแสบเป็นตัวอย่างที่มีการเชื่อมประสานการทำงานโดยไม่มีการแยกส่วน และภาระกิจในส่วนของการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ก็ไม่ใช่เพียงแค่การสวมใส่ผ้าไทยหรือกินอาหารไทยเท่านั้น อยากทำให้เห็นว่ามันคือวิถีชีวิตของคนไทย          

 “การที่มหาวิทยาลัยทำงานร่วมไปกับชุมชนและเปลี่ยนแปลงชุมชนเพื่อให้วิถีชีวิตในชุมชนเปลี่ยนแปลงและเพิ่มคุณค่าให้แก่วิถีชีวิตของพวกเขา ถือเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าต่อความสุขของคนในสังคม งานลักษณะนี้มหาวิทยาลัยจะไม่ติดอันดับอยู่ในระดับ worldclass universities หรือการจัดอันดับมหาวิทยาลัย Ranking ใดๆทั้งสิ้นก็ตาม ซึ่งผมอยากฝากถามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องว่า เราจะดูการทำงานหรือความรับผิดชอบเพียงเพื่อการติดอยู่ในอันดับต่างๆ แค่นั้นหรือ แล้วทอดทิ้งภาระการทำงานในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะความสุขและคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนต่างๆ งานบริการวิชาการแก่สังคมเป็นงานที่ผู้คนในสังคมจะได้รับประโยชน์และเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”           

นางสาวรัตนิน สุพฤติพานิชย์ นักวิจัยเรื่องชุมชนริมน้ำ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า การทำงานชุมชนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นที่เราต้องใช้พลังจากคนในชุมชนขับเคลื่อน และต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนโดยการจัดกิจกรรมพาไปดูงาน สร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงและต้องถามคนในชุมชนเสมอๆ ว่า ต้องการเห็นชุมชนที่ตัวเองอยู่อาศัยเป็นอย่างไร การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ร่วมสำรวจชุมชนร่วมกันเพื่อทำให้รู้ว่าชุมชนตัวเองมีอะไรดี อะไรมีคุณค่าคนในชุมชนต้องเป็นคนตอบให้สังคมรับรู้  ไม่ใช่คนนอกพื้นที่จะเป็นคนตอบหรือนักวิจัยเป็นคนตอบ สิ่งสำคัญต้องทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของตัวเองและของชุมชน พร้อมจะทำงานและสร้างเครือข่ายภายในชุมชนของตัวเอง และพร้อมจะทำงานสานประโยชน์กับหน่วยงานอื่นๆ แม้ว่าเราจะเป็นนักวิจัย สร้างความรู้ใหม่หากแต่ความรู้เหล่านั้นมันก็อยู่ในชุมชนเราจึงต้องรับฟังและสื่อสารกับคนในชุมชนให้มากขึ้น พร้อมไปกับการลงมือทำงานอย่างจริงจัง ชุมชนจึงจะเชื่อถือ เชื่อมั่นและศรัทธาพร้อมทั้งให้ความร่วมมือและก้าวไปด้วยกันอย่างไม่มีปัญหา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง