“กระเทาะสถานการณ์เกษตรกรไทย ในก้าวย่างแห่งการปฏิรูปเพื่อระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน”

26 มี.ค. 55
10:17
13
Logo Thai PBS
“กระเทาะสถานการณ์เกษตรกรไทย ในก้าวย่างแห่งการปฏิรูปเพื่อระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน”

ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้วนั้น เกษตรกรรมถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตและ เป็นวัฒนธรรม รวมถึงเป็นฐานในการรองรับระบบเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงทางอาหารของผู้คน

ในสังคมไทย  และถึงแม้จำนวนของเกษตกรจะลดลงเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2553 ซึ่งจำนวนของเกษตรกรในบ้านเราลดมากถึงร้อยละ 1.09  โดยจำนวนของเกษตรกรที่ลดลงไปนั้นยิ่งทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแรงงานในภาคเกษตรกรนั้นสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่ประชาคมโลกเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านอาหารตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551
         
ถึงแม้ประเทศไทยของเรานั้นจะเป็นประเทศส่งออกสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์ลำดับต้นๆ ของโลก แต่เกษตรกรในบ้านเรานั้นกลับอุดมไปด้วยหนี้สิน  ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 เป็นต้นมามีเกษตรกรที่เป็นหนี้มากถึง 6.3 ล้านคน รวมเป็นจำนวนหนี้สินกว่าแปดแสนล้านบาท  และยังมีเกษตรกรที่ยังต้องสูญเสียที่ดินทำกินมากถึงร้อยละ 59.73 ของเกษตรกรทั้งหมด เกษตรกรหลายคนต้องเช่าที่ดินทำกิน
เพื่อทำการเกษตรเพราะปัญหานายทุนกว้านซื้อ ซ้ำร้ายเกษตรกรร้อยละ 39 ตรวจพบว่ามีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในขั้นความเสี่ยงและไม่ปลอดภัย และที่สำคัญอาชีพเกษตรนั้นยังขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานนี้ ซึ่งในทางกลับกันแรงงานของภาคเกษตรที่มีอยู่เดิมนั้นก็กำลังเข้าสู่วัยชรา
         
อีกปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากในบ้านเราต้องประสบกับสภาวะวิกฤตเช่นนี้นั้นมาจากการครอบครองปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ สารเคมี ทางการเกษตร อาหารสัตว์ และการรวมศูนย์ของระบบการกระจายอาหารในระบบการค้าสมัยใหม่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่ราย เป็นสาเหตุที่นำไปสู่การไม่ได้รับความเป็นธรรมของเกษตรกร โดยเฉพาะการเกษตรในรูปแบบพันธะสัญญาของนายทุนยักษ์ใหญ่ยิ่งเป็นปัจจัยเร้าหลักที่ทำให้ความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย

ดังนั้น วาระของการปฏิรูปประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทยควรจะได้นำไปสู่การพูดคุยเป็นประเด็นต้นๆ  ทั้งนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยได้จัดทำร่างมติของสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 – 31 มีนาคม และ 1 เมษายน 2555 จึงมีประเด็นเรื่อง “การปฏิรูประบบเกษตรกรรม : เพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งในร่างมติดังกล่าวนี้ได้นำเสนอทางออกและการจัดการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทยที่น่าสนใจไว้หลากหลายข้ออาทิ เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ  จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนที่เน้นคุณค่าและมูลค่า

พร้อมกันนี้ ยังเสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้โดยผ่านกลไกต่างๆ เช่นศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน กระบวนการโรงเรียนชาวนา นักวิจัยเกษตรกร อาสาสมัครเกษตร สภาเกษตรและสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรท้องถิ่น พร้อมปรับทิศทางการทำงานให้สนับสนุนและทำงานร่วมกับเกษตรกรและชุมชนมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างนวัตกรรมและขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างกว้างขวางนอกจากนี้แล้วคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปยังได้เตรียมนำเสนอให้รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนให้เกิดการสร้างเกษตรรุ่นใหม่โดยใช้นโยบายและมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น ใช้นโยบายการเงินการคลัง ให้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่ลูกหลานเกษตรกร หรือเงินกู้เพื่อการศึกษาแบบเสียดอกเบี้ยต่ำสำหรับการศึกษาการเกษตรแบบยั่งยืนจนจบการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยกเว้นภาษีจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมยั่งยืนภายในระยะเวลา 7 ปีด้วย

การปฏิรูปกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นโดยเฉพาะเรื่องเกษตรพันธะสัญญา  คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปได้เตรียมเสนอให้รัฐบาล สมาชิกรัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรกรภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาภายในปี พ.ศ. 2556 โดยให้มีเนื้อหาเพิ่มเติมไม่ให้เกษตรกรต้องกลายเป็นผู้รับภาระความเสี่ยง และการได้รับผลตอบแทนอย่างไม่เป็นธรรม  พร้อมทั้งเร่งให้มีการปฏิรูปกฏหมายเพื่อลดการผูกขาดและควบคุมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย

ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ยังไม่ได้ถูกขานรับหรือขัดเกลาอย่างเป็นรูปเป็นร่างในรูปแบบฉบับที่สมบูรณ์ หากแต่ความสมบูรณ์จะเกิดขึ้นกับเกษตรไทยอย่างแท้จริงอาจไม่ใช่การขัดเกลาภาษาที่อยู่ในตัวหนังสือที่ถูกนำเสนอต่างๆ เหล่านี้ หากแต่ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำข้อเสนอต่าง ๆ เหล่านี้ไปสานต่อให้เป็นรูปเป็นร่าง ไม่ใช่เพื่อใครอื่นไกลหากแต่เพื่อกระดูกสันหลังของชาติไทยเรานั่นเอง !!


ข่าวที่เกี่ยวข้อง