ชี้ตลาดแรงงานเปลี่ยนทั่วโลก ธุรกิจต้องปรับตัวพร้อมเข้าสู่ "ยุคดิจิตอล”

27 มี.ค. 55
17:57
8
Logo Thai PBS
ชี้ตลาดแรงงานเปลี่ยนทั่วโลก  ธุรกิจต้องปรับตัวพร้อมเข้าสู่ "ยุคดิจิตอล”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คและเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนโลกสู่ยุคการสื่อสารแบบไร้พรหมแดน เกิดการทำธุรกิจในหลายรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนรวมถึงรูปแบบการตลาดและการบริหารที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังปรับตัว

 และแน่นอนว่าพื้นฐานของความสำเร็จในการปรับตัวนั้นย่อมต้องเริ่มจากบุคลากรในองค์กรเป็นสำคัญ ทำให้การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ นอกเหนือจากการเน้นเฉพาะผลลัพธ์ทางธุรกิจ
               
 ปรียกร มิมะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิสคัฟเวอร์ จำกัด  ผู้บริหารและจัดตั้งสถาบันเดล คาร์เนกี ในประเทศไทย กล่าวถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆที่ทำให้องค์กรต้องตื่นตัวเพื่อเตรียมความพร้อมในการวางแผนเชิงรุกและรับมือกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลง และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทำให้รูปแบบ วิถีชีวิตและการทำงานของคนเราเปลี่ยนไป ทักษะที่จำเป็นในการทำงาน ความคาดหวังของลูกค้า หรือความคาดหวังของพนักงานที่มีต่อองค์กรก็เปลี่ยนไปด้วย เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆรวมถึงสนับสนุนการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่องค์กรได้มากขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆต้องหาแนวทางการบริหารที่ทำให้บุคลากรสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงของตลาด การรับมือกับคู่แข่ง รวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการตนเองและรับมือกับความเครียดได้ 

จากการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว การเปลี่ยนแปลงของวัยทำงานโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือ Generation Y จะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในระดับบริหารระดับกลางถึงระดับสูงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งคนในรุ่นนี้เป็นผู้ที่มีแนวความคิดในการทำงานและการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนในรุ่นอื่นๆ ทำให้องค์กรต้องปรับแนวทางการบริหารในปัจจุบันโดยเน้นการมีส่วนร่วมในการวางทิศทางการบริหารและการกำหนดกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายองค์กร นอกจากนี้ การนำช่องทางการสื่อสารทางเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำงานจะทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้นด้วย”

ปรียกรยังเน้นย้ำถึงการปรับตัวของกลยุทธ์องค์กรที่ไม่สามารถกำหนดเพียงเป้าหมายที่เป็นตัวเงินเท่านั้น หากต้องกำหนดเป้าหมายในการดูแล และพัฒนาบุคลากรเป็นเป้าหมายสำคัญด้วย ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กร ดังนั้นองค์กรไม่สามารถมองหาแต่เพียงวิธีการบริหารธุรกิจเพื่อลดต้นทุน หรือตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มกำไรหรือผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเท่านั้น หากแต่เป็นการเพิ่มผลผลิตขององค์กรผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน การสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง การสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กร การสนับสนุนการพัฒนาทักษะ และความสามารถ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของบุคลากรด้วย

ปรียกร ยังให้มุมมองในเชิงมหภาค ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศ และมีผลกระทบโดยตรงต่อคนทำงานว่า “หากพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจของไทยและกลุ่มคนทำงาน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) จะเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งไม่เพียงแต่การแข่งขันในเชิงธุรกิจจะสูงขึ้น แต่การจัดสรร หมุนเวียนของทรัพยากรต่างๆจะเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้น ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่องค์กรต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ โดยมีความพร้อมในการปรับกระบวนการทำงานให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เปิดรับการปรับเปลี่ยนและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนในเรื่องของบุคลากรที่เราอาจหาคนเก่งเข้ามาในองค์กรได้ง่ายขึ้นแต่ก็สามารถเสียบุคลากรที่ดีไปได้ง่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้นองค์กรจึงต้องตระหนักถึงการบริหารในด้านต่างๆ เช่น การบริหารทีมงานที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย การสร้างความเชื่อมั่นต่อองค์กร และการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เพราะการรักษาบุคลากรที่ดีไว้ก็จะเป็นความท้าทายเช่นเดียวกัน

หากมองในมุมของคนทำงาน เราเชื่อว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก ดังนั้นโอกาสการเติบโตในองค์กร การหมุนเวียนไปในองค์กรอื่นหรือในประเทศอื่นเพื่อหาประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ขอให้มีการเตรียมตัวที่ดี ทั้งในด้านภาษา การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ความสามารถในการจัดการการเปลี่ยนแปลงและรับความท้าทาย รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีเพื่อสร้างเครือข่าย (Networking) ได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง