ระบบภาษียาสูบของไทย: ภาษีสรรพสามิตยาสูบ ทางเลือกสำหรับประเทศไทย

31 มี.ค. 55
04:22
19
Logo Thai PBS
ระบบภาษียาสูบของไทย: ภาษีสรรพสามิตยาสูบ ทางเลือกสำหรับประเทศไทย

จากข้อสังเกตที่ได้ให้ไว้เกี่ยวกับปัญหาในประเทศไทยภายใต้ระบบภาษีสรรพสามิตยาสูบในปัจจุบัน ในเรื่องความโปร่งใส และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคไปหาสินค้าที่มีราคาถูกลง (Down-Trading) ประกอบกับทฤษฎี และตัวอย่างของต่างประเทศนั้น มันก็ดูไม่น่าจะเป็นการยุ่งยากเกินไป และประเทศไทย น่าจะยังพอมีเวลาที่จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า แน่นอนว่าระบบที่ดีที่สุดสำหรับประเทศอื่น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่เวิร์คที่สุดสำหรับประเทศไทย หากเราลอกเลียนแบบของเขาในทุกด้าน โดยไม่คำนึงถึง ความแตกต่างทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็ไม่เสียหายอะไรที่เราจะศึกษาตัวอย่างจากประเทศอื่น เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไข เราได้เรียนรู้ว่าระบบภาษีตามปริมาณนั้นมีข้อดีทั้งด้านสุขภาพและด้านรายรับของรัฐบาล แต่ด้วยความแตกต่างกันมากในราคาของสินค้าในประเทศไทย การใช้ภาษีตามปริมาณอย่างเดียวอาจยังไม่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แทนที่จะใช้ระบบใดระบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว ระบบผสมอาจให้ความยืนหยุ่นด้านนโยบายที่เป็นคำตอบ

ในการจัดการกับปัญหา Down-Trading โดยที่ไม่สร้างความยุ่งยากซับซ้อนกับตลาด หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมยาสูบของประเทศไทย การเพิ่มองค์ประกอบของภาษีตามปริมาณนั้น นอกจากจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยตอบโจทย์ด้านรายได้ของรัฐอีกด้วย โดยช่วยลดผลกระทบด้านรายได้ภาษีจากการกำหนดราคาของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นของระบบผสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าประเทศไทยจะหันมาใช้ราคาขายปลีกเพื่อเป็นฐานในการคำนวณภาษีในส่วนภาษีตามมูลค่า ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยในเรื่องความโปร่งใสและลดความซับซ้อนในการบริหารจัดเก็บภาษี

ยิ่งไปกว่านั้นองค์ประกอบของภาษีตามปริมาณ ภายใต้ระบบผสมนั้นจะเป็นจุดที่ช่วยรับประกันจำนวนเม็ดภาษีสรรพสามิตขั้นต่ำที่รัฐบาลจะได้รับ โดยไม่ขึ้นอยู่กับราคาขายปลีกของสินค้าไม่ว่าจะต่ำเพียงใดก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภายใต้ระบบผสม สินค้าที่มีราคาต่ำนั้นจะมีภาระภาษีที่แท้จริง (effective tax) ที่มากกว่าสินค้าที่มีราคาสูงกว่าเมื่อคิดเป็นร้อยละของราคาขายปลีก ซึ่งเป็นกลไกในการป้องกันการลดราคาเพื่อประโยชน์ทางภาษีของผู้ประกอบการ

เห็นได้ว่าระบบผสมนั้นมีศักยภาพสูงมาก อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่า การจะได้ประโยชน์สูงสุดจากความยืดหยุ่นของระบบผสมนั้น ผู้ออกแบบและกำหนดนโยบายจะต้องเข้าใจผลด้านต่างๆ ที่เกิดจากการกำหนดอัตราภาษีทั้งอัตราตามปริมาณและอัตราตามมูลค่าภายใต้ระบบผสมนี้ เพื่อที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านต่างๆ ของนโยบายได้อย่างสมดุล
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง