มจธ.วิจัย“ดินไบโอ” ฮีโร่สิ่งแวดล้อม บล็อกสารพิษในดิน เก็บอาหารให้พืช

สิ่งแวดล้อม
12 เม.ย. 55
11:06
70
Logo Thai PBS
มจธ.วิจัย“ดินไบโอ” ฮีโร่สิ่งแวดล้อม บล็อกสารพิษในดิน เก็บอาหารให้พืช

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทำการเกษตรมากเป็นอันดับที่ 48 ของโลก แต่ใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งเป็นเหตุให้ผลิตผลมีการปนเปื้อนสารเคมี รวมถึงสารเคมีตกค้างในดินที่ใช้ในการเพาะปลูกพืช ทำให้ดินเสื่อมสภาพลง

และมากที่สุดคือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่บางพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้งมากขึ้นเช่นนี้ โอกาสในการแพร่กระจายของสารเคมีในดิน และน้ำยิ่งเพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องการการป้องกัน และแก้ไข

ปัจจุบันจึงมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว มีการนำเทคโนโลยีใหม่ เข้าจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่เว้นแม้แต่ปัญหาดินเสื่อมโทรมจากการเกษตร ล่าสุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) คิดค้นนวัตกรรมในการกักเก็บสารพิษไว้ที่เดิม ในผลงาน “ดินไบโอ” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะมีคุณสมบัติสามารถบล็อกสารพิษไว้ในดินอีกทั้งยังสามารถกักเก็บธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการปลูกพืชได้อีกด้วย

ดร.ธิดารัตน์ บุญศรี และผู้ช่วยวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (มจธ.) เจ้าของผลงานดังกล่าวเปิดเผยว่า ดินไบโอไม่ใช่ดินที่อยู่ตามธรรมชาติทั่วไป แต่สังเคราะห์มาจากตะกอนจุลินทรีย์ ที่ได้จากจากโรงบำบัดน้ำเสียชุมชนนำมาผ่านกระบวนการปรับเสถียรอัลคาไลน์ (Alkaline Stabilisation Method)คือ ปรับค่าพีเอชของตะกอนจุลินทรีย์โดยใช้สารอัลคาไลน์ เช่น ปูนขาว เถ้าลอยจากเตาเผาถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งทำให้ดินไบโอสามารถดูดซับธาตุอาหาร รวมทั้งสารอันตรายอย่างโลหะหนักได้ ช่วยลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้กระบวนการปรับเสถียรอัลคาไลน์ยังสามารถฆ่าเชื้อโรค และดับกลิ่นของตะกอนจุลินทรีย์ได้

“ดินไบโอที่สังเคราะห์ขึ้นมีลักษณะค่อนข้างร่วน อุ้มน้ำได้บางส่วน อีกทั้งยังมีสารอินทรีย์ และธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญของพืชอย่างไนโตรเจน และฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบหลัก โดยดินไบโอจะเปลี่ยนรูปของธาตุอาหารในดินให้พืชสามารถนำไปใช้ได้ทันที จึงช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย และประหยัดน้ำในการเพาะปลูก”

ที่สำคัญดินไบโอจะช่วยในด้านการเกษตรแล้วยังสามารถดูดซับโลหะหนักได้ จึงประยุกต์ใช้ในการฝังกลบขยะได้เพราะปัจจุบันมีการกำจัดขยะจำนวนมหาศาลด้วยการฝังกลบ ขยะเหล่านั้นอาจมีสารอันตราย โดยเฉพาะโลหะหนักที่มักปะปนออกมากับน้ำชะขยะ ส่งผลให้มีการปนเปื้อนโลหะหนักในดินและแหล่งน้ำ แต่ดินไบโอมีคุณสมบัติดูดซับโลหะหนักได้ อาทิ โครเมียมเฮกซะวาเลนท์ ด้วยกระบวนการแปรสภาพเป็นไตรวาเลนท์โครเมียม จึงลดความเป็นพิษและละลายน้ำได้น้อยลง ถึงแม้น้ำชะขยะที่มีโลหะหนักโครเมียมจะมีสภาวะเป็นกรด ดินไบโอก็ยังสามารถกักเก็บโลหะหนักโครเมียมได้ เนื่องจากมีสมบัติทนต่อกรดที่มีค่าพีเอชถึง 1.00 ได้ ดินไบโอจึงเหมาะสำหรับใช้เป็นวัสดุฝังกลบประจำวัน และสามารถนำไปฟื้นฟูสภาพน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนโลหะหนักได้อีกด้วย

นอกเหนือจากดินไบโอที่สังเคราะห์ขึ้นแล้วยังสามารถทำให้ดินตามธรรมชาติมีคุณสมบัติเหมือนดินไบโอได้ด้วย การปรับปรุงคุณภาพดิน หรือทำให้คุณสมบัติทางกายภาพของดินเปลี่ยนแปลง โดยกระบวนการปรับเสถียรอัลคาไลน์ เช่นเดียวกับดินไบโอ ซึ่งใช้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมอย่าง ปูนขาว เถ้าลอย ซีโอไลต์ และโดโลไมท์ ผสมในดิน สารอัลคาไลน์เหล่านี้ทำให้ดินมีคุณสมบัติในการกักเก็บธาตุอาหารและโลหะหนัก เหมาะแก่การเพาะปลูกและใช้ฝังกลบขยะได้ดีเช่นเดียวกับดินไบโอ

ทั้งนี้ ดร.ธิดารัตน์ กล่าวว่า การทำงานวิจัยเรื่องดินนี้ มุ่งเป้าเพื่อให้เกิดงานที่วิจัยที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นสามารถกักเก็บธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช และใช้ฝังกลบขยะเพื่อกักเก็บสารพิษอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวิธีการที่ง่ายและเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผลงานนี้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการใช้งานจริงในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหรรม หรือใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป”
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง