กทม.เร่งตรวจสอบถนนที่เสี่ยงต่อการทรุดตัว

24 เม.ย. 55
15:14
10
Logo Thai PBS
กทม.เร่งตรวจสอบถนนที่เสี่ยงต่อการทรุดตัว

ถนนเสี่ยงต่อการทรุดตัวกว่า 100 จุด ใน 48 สำนักงานเขต ซึ่งสร้างความกังวลใจให้กับประชาชน ที่ใช้รถใช้ถนน และผู้ที่อาศัยในบริเวณดังกล่าว พวกเขาจึงเรียกร้องให้ กทม.เร่งตรวจสอบ และดำเนินการแก้ไขเพื่อสร้างความปลอดภัย

บริเวณถนนเยาวราช ตั้งแต่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ไปจนถึง สะพานภาณุพันธุ์ เขตสัมพันธวงศ์ ระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร เป็นอีกจุดเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทรุดตัวของถนน หลังสำนักงานเขตสำรวจพบว่า มีการซ่อมบำรุงถนนอยู่บ่อยครั้ง เฉพาะที่เขตนี้ พบว่ามีถนนที่เสี่ยงมากถึง 5 จุดด้วยกันได้แก่ ถนนเยาวราช เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้ง เป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญ และยังเป็นแหล่งที่ตั้งของโรงแรมหลายแห่ง ทำให้หลายคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ ยอมรับว่าเป็นกังวล และเรียกร้องให้ กทม.ลงมาแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะไม่อยากให้เกิดเหตุถนนทรุดเหมือนเช่น 3 สายหลักที่ผ่านมา เนื่องจากอาจไม่โชคดี หากเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ขึ้น

ด้านบริเวณสี่แยกสะพานควาย ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท เป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงย่านใจกลางเมืองที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะถนนบริเวณนี้เคยทรุดตัวมาแล้วเมื่อปี 2551 แม้ว่า จะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส อพาร์ตเม้นท์ และคอนโดมิเนียม เป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนที่อาศัยในบริเวณนี้ ยังเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างชั้นดิน และทำให้ถนนทรุดตัว แต่เป็นกังวลเรื่องระบบสาธารณูปโภคใต้ดินมากกว่า เพราะอาจทำให้เกิดโพรงใต้ดิน และถนนทรุดตัวได้

ล่าสุด มีรายงานข้อมูลถนนเสี่ยงทรุดตัวเพิ่มอีก 73 จุดจาก 32 สำนักงานเขต ทำให้ขณะนี้มีถนนเสี่ยงทรุดตัวมากถึง 113 จุดจากทั้งหมด 48 เขต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ใกล้แม่น้ำ คูคลอง แนวรถไฟฟ้า เช่น ถนนพระรามที่ 1 บริเวณหน้าหอศิลป์, สยามดิสคัฟเวอร์รี่, ถนนพญาไท, หน้ามาบุญครอง, ถนนพระรามที่ 4, หน้าศาลแรงงานกลาง, หัวมุมถนนมหาพฤฒาราม ตัดถนนพระราม 4, ถนนวิทยุ และบริเวณแยกเพลินจิต

สำหรับขั้นตอนตรวจสอบถนนจุดเสี่ยงนั้น ทางเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา จะนำเครื่องเรดาร์ระบบ GPR เอ็กซเรย์ใต้ผิวถนน เพื่อตรวจดูว่าเกิดโพรงใต้ดินหรือไม่ โดยเครื่องดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก็สามารถประมวลผลได้ ซึ่งหากพบว่ามีคลื่นตก แสดงว่าบริเวณนั้นเกิดการยุบตัว หรือมีโพรงใต้ดิน

ทั้งนี้สำนักการโยธา ตั้งเป้าตรวจสอบถนนให้ได้ในหลายสาย แต่เนื่องจากความยาวของถนน และต้องใช้เครื่องตรวจด้วยวิธีเดินเท้า ทำให้ต้องใช้เวลา รวมทั้ง กทม.ไม่มีเครื่องเรดาร์ระบบ GPR ขณะนี้จึงเป็นเพียงขอการสนับสนุนจาก บริษัทเอกชนจำนวน 2 เครื่อง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ ก็ยังไม่มีความชำนาญในการใช้เครื่อง แต่คาดว่าภายใน 1-2 เดือน จะสามารถดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จได้ทุกจุด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง