การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในภาพยนตร์

Logo Thai PBS
การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานในภาพยนตร์

หนึ่งในเรื่องราวที่หยิบมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไม่น้อยคือการต้อสู้ของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหลายเรื่องที่ยังอยู่ในความทรงจำของแฟนหนัง เป็นผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงมากมาย

แม้จะถูกทำร้ายปางตาย แต่เทอร์รี มัลลอย คนงานท่าเรือยืนยันที่จะเป็นพยานในคดีฆาตกรรมที่หัวหน้าแก๊งมาเฟียสหภาพแรงงานเป็นคนก่อ ความกล้าเผชิญกับความถูกต้องโดยไม่เกรงอันตรายซื้อใจเพื่อนร่วมงาน และพร้อมใจกันเปิดทางให้มัลลอยเข้าทำงานอีกครั้งโดยไม่สนใจคำขู่ของหัวหน้าแก๊งมาเฟีย คือฉากประทับใจใน On the Waterfront ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 8 รางวัลออสการ์ คือหนึ่งในตัวอย่างการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานกับความอยุติธรรมในสังคม

ภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานปรากฏอยู่บนแผ่นฟิล์มตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการสร้างภาพยนตร์ ทั้งการก่อกบฏของลูกเรือบนเรือรบรัสเซียใน Battleship Potemkin หนังเงียบในปี 1925  ซึ่งต่อมาเป็นต้นแบบของการเล่าเรื่องที่คลาสสิก ชีวิตของ จิมมี ฮัฟฟา นักต่อสู้ที่ทำให้ Teamsters กลายเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ก่อนถูกลักพาตัว และสูญหายอย่างไร้ร่องรอย ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง โดยมี แจ็ค นิโคลสัน และ ซิลเวสเตอร์ สตาลโลน แสดงนำ บทบาทของลูกจ้าง ไรอัน บิงแฮม ตัวเอกของเรื่องในภาพยนตร์ Up in the Air ที่ทำงานอยู่บนเครื่องบินมากกว่าบ้าน สะท้อนภาพลูกจ้างที่อุทิศชีวิตให้กับองค์กร ที่แม้จะประสบความสำเร็จบนเส้นทางอาชีพ แต่ชีวิตส่วนตัวกลับล้มเหลว

การต่อสู้ของแรงงานหญิงสร้างสีสันในวงการภาพยนตร์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ทั้งการต่อสู้ของ โจซี ไอเมส จากเรื่อง North Country ที่ประสบความสำเร็จในการรวมตัวกลุ่มแรงงานสตรีในการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนร่วมงานชายในเหมือง หรือวีรกรรมของ นอร์มา เร สาวโรงงานผ้าฝ้ายที่ต่อสู้เพื่อสวัสดิการที่เป็นธรรม นำไปสู่การร่วมกันก่อตั้งสหภาพแรงงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จในการลุกขึ้นสู้กับระบบ เห็นได้จากการจุดจบของ คาเรน ซิลค์วูด จากเรื่อง Silkwood ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนอย่างปริศนา ก่อนนำข้อมูลลับของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ไปเปิดโปงกับสื่อมวลชน

ความเหลื่อมล้ำของสิทธิแรงงานยังถูกถ่ายทอดเป็นสารคดีมากมาย ทั้ง WAL-MART The High Cost of Low Price ที่โจมตีการขยายของธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่นำมาซึ่งการล่มสลายของร้านค้าขนาดย่อยในหลายเมืองของสหรัฐฯ หรือสารคดีเปิดโปงความฉ้อฉลในธุรกิจน้ำอัดลมชื่อดังที่นำไปสู่การหายตัวอย่างปริศนาของผู้แทนแรงงานขององค์กร รวมถึงประเด็นที่ถูกสร้างเป็นสารคดีอย่างแพร่หลาย เช่นปัญหาแรงงานเด็ก ที่พบได้ทั้งในแอฟริกา, ลาตินอเมริกา จนถึงจีน และอินเดีย ซึ่งทุกวันนี้ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกับองค์กรธุรกิจทำให้รัฐบาลในหลายประเทศยังคงละเลยจากการแก้ปัญหาในวันนี้
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง