Sputnik Tales Studio จับมือองค์กรภาคี หนุน “แอนิเมเตอร์อิสระ” ใส่ใจสังคม

Logo Thai PBS
Sputnik Tales Studio จับมือองค์กรภาคี หนุน  “แอนิเมเตอร์อิสระ” ใส่ใจสังคม

โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล

“แอนิเมชั่นไร้กรอบ” งานที่ไม่สร้างโจทย์ ไม่มีข้อจำกัดทั้งเนื้อหา เวลา แต่แฝงไว้ด้วยแง่คิดและมุมมองที่จุดประเด็นการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างน่าสนใจ และแอนิเมเตอร์ผู้สร้างงานจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปเพราะ Sputnik Tales Studio ร่วมกับ องค์กรภาคีสนับสนุน ได้แก่ มูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) สถาบัน Change Fusion สถานีโทรทัศน์ช่อง ThaiPBS (รายการ Hot Short Film) นิตยสาร Bioscope นิตยสาร Computer Arts Thailand Vibulkij Publishing Group นิตยสาร Happening และ Kapook.com จัดเทศกาล “ Animatior Festival ครั้งที่ 1” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นอิสระครั้งแรกของประเทศไทยขึ้น ขึ้นเพื่อรวบรวมผลงานแอนิเมชั่นที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจจากเยาวชนทั่วประเทศ

นายรัฐ จำปามูล’ ผู้ก่อตั้ง Sputnik Tales Studio เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดการประกวดงานแอนิเมชั่นอิสระมาก่อน การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายคืออยากให้แอนิเมชั่นเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสรรค์สังคมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เพราะแอนนิเมชั่นมีพลังในการสื่อสารเชิงสังคมได้เป็นอย่างดีสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้พร้อมกันทั้งภาพและเสียง เข้าใจง่าย และกระตุ้นความสนใจของเด็กและเยาวชนได้เป็นอย่างดี

“กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดแอนิเมชั่นที่มีจิตอาสา และสร้างพื้นที่เผยแพร่ผลงานให้กับเยาวชนทั่วประเทศได้มีพื้นที่แสดงผลงานของตนเอง เป็นจุดเชื่อมให้เยาวชนได้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานที่มีคุณภาพสู่สังคม และเพื่อแสดงศักยภาพการทำแอนิเมชั่นของเยาวชนไทยให้อุตสาหกรรมได้รับรู้”

ด้านนางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งาน Animatior Festival ครั้งที่ 1 เป็นงานที่ต้องการค้นหาพลังเชิงบวกของเยาวชนให้ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาตนเอง และแบ่งปันความสามารถนี้กับสังคมโดยรวม

“โครงการนี้มีเสน่ห์มาก เพราะเป็นโครงการที่ทุกคนร่วมมือกันด้วยเห็นว่าแนวคิดที่สร้างสรรค์ อยากเห็นเยาวชนที่ทำงานแอนิเมชั่นได้ใช้ความรู้ความสามารถผลิตงานเพื่อสังคมแล้วถูกนำเสนอ อีกทั้งเล็งเห็นว่าตลาดแอนิเมชั่นเป็นตลาดใหม่ที่มีความต้องการสูง ฉะนั้นเยาวชนคนไหนมีความสามารถและจินตนาการไม่ควรรอ แต่ควรลงมือทำทันที  ซึ่งในปีหน้ามูลนิธิสยามกัมมาจลคิดว่าจะสนับสนุนการจัดงาน Animatior Festival ต่อไป เพื่อให้เป็นเวทีให้เยาวชนรุ่นใหม่มีพื้นที่แสดงผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมไทย และเพื่อต่อยอดเชิงธุรกิจด้วย  เชื่อว่าเวทีเล็กๆ เช่นนี้จะเป็นเวทีที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคตได้เช่นกัน”

นายพีรพงษ์ อมรสกุลเดช เจ้าของผลงาน Never Ending ผู้ได้รับรางวัล The Best Visual จากมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าว่า Never Ending เป็นการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนถึงการใช้ชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่มีความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ตนรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากที่เห็นคนมาชมงานมากกว่าที่คิดไว้   ตนทำงานคนเดียว เมื่อทำแล้วได้มีโอกาสนำผลงานมาเผยแพร่สู่สาธารณะ จึงรู้สึกยินดีที่ผลงานที่ลงมือทำได้รับการโหวตจากคณะกรรมการและผู้ชมจนได้รับรางวัลดังกล่าว

 “อึ้งเมื่อรู้ว่าได้รับรางวัล  อยากบอกน้องๆ และเพื่อนๆ ว่า ในปีหน้าถ้าใครสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ก็ขอให้อย่ากลัว แต่อยากลงมือทำเลย  อยากทำเรื่องอะไร ก็ให้ศึกษาเรื่องนั้นอย่างเต็มที่แล้วลงมือทำเลย แล้วงานจะออกมาดีเอง ผมเชื่ออย่างนั้น”

ขณะที่นายกิตติศักดิ์ กนกบุษบาล เจ้าของผลงาน Ant หนึ่งในผู้ได้รับรางวัล The Best Social content  กล่าวว่า  Ant เป็นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความน่าทึ่งของการเอาชีวิตรอดจากสถานการณ์ต่างๆของมด ที่ถ่ายทอดออกมาในรูปของความสามัคคีเมื่ออยู่ร่วมกัน ตนรู้สึกดีใจและอยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการจัดงานครั้งนี้ให้กลุ่มแอนิเมเตอร์อิสระทั้งหลายได้ขับเคลื่อนงานต่อไป  แล้วก็ได้พัฒนาศักยภาพด้านแอนิเมชั่นเพิ่มขึ้นในอนาคต

“โดยส่วนตัวผมมองว่างานครั้งนี้มีประโยชน์มาก ทำให้ผมรู้ว่ายังมีนักแอนิเมเตอร์ฝีมือดีๆ อยู่มากมายที่แฝงตัวอยู่ในประเทศไทย และงานด้านนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง  ผมอยากให้คนที่ทำงานแอนิเมเตอร์ทุกคนมีไฟในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้มีหน่วยงานหลายแห่งเข้ามาสนับสนุนมากมาย จึงอยากให้ทุกคนแสดงฝีมือออกมาเพื่อให้รู้ว่าเรามีศักยภาพมากน้อยเพียงใด”

นายกิตติศักดิ์ สุทธิพงษ์ คำหอม เจ้าของผลงาน The Cube  ผู้ได้รับรางวัล The Best Social content  จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า The Cube  เป็นงานที่บ่งบอกความเป็นตัวเองสะท้อนแนวคิดทุนนิยมที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทุกคน ซึ่งปฎิเสธยากว่ามนุษย์ต่างมีชีวิตที่ขึ้นตรงต่อความเกี่ยวข้องกับเงินทั้งสิ้น  สำหรับการจัดงานครั้งนี้ตนรู้สึกยินดีที่บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยคนที่รักแอนิเมชั่นเหมือนกัน ทำให้คนที่มาร่วมงานรู้สึกอบอุ่น ที่สำคัญรู้สึกดีใจที่งานได้ออกเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับชม เพราะว่าคนทำงานด้านแอนิเมชั่นก็ย่อมรู้สึกว่าเมื่อทำงานขึ้นมาหนึ่งชิ้นก็อยากสื่อสารอะไรบางอย่างเพื่อให้คนดูได้คิดตาม

“สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการในงานวันนี้ที่ผมได้ฟังถือเป็นการให้กำลังใจกับคนทำงานแอนิเมชั่นก็รู้สึกชื่นใจ และในส่วนข้อบกพร่องในผลงานนั้น ผมจะนำกลับไปพัฒนาต่อ โดยเฉพาะรูปแบบการเล่าเรื่องที่จะต้องทำให้ผู้ชมเข้าใจง่ายขึ้น และผมมองว่าประโยชน์จากเวทีนี้คือได้เพื่อน รวมไปถึงผมก็ได้ชมงานแอนิเมชั่นของเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย ทำให้เห็นความแตกต่างของงานมากขึ้น ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์การทำแอนิเมชั่นให้กับผมเลยทีเดียว”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง