สสส.จับมือภาคีรวมพลังรับมือภัยพิบัติ

Logo Thai PBS
สสส.จับมือภาคีรวมพลังรับมือภัยพิบัติ

สสส.เปิดงาน “วันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ” เน้นการประสานงานความร่วมมือของทุกภาคส่วนหากเกิดภัยพิบัติในทุกรูปแบบ เสนอ ลาดกระบังโมเดล รับมือน้ำท่วม

 วันที่ 5 พ.ค. 2555 ที่หอประชุมใหญ่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นาย สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานเปิดงาน “วันรวมพลังรับมือภัยพิบัติ” ซึ่งจัดโดย โครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ โดย สสส. ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเครือข่ายประชาชนจากทั่วประเทศ

 
นายสุปรีดา กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น การเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยหนาว หรือแผ่นดินไหวที่บริเวณเกาะสุมาตราและแถบรอยเลื่อนในประเทศไทย ซึ่งสังคมต้องหันมาตระหนักถึงการเตรียมพร้อมในการรับมือ หรือ ลดความสูญเสียหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้น  เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ร่วมเป็นเครือข่ายรับมือภัยพิบัติในอาจเกิดขึ้นอนาคต โดยเริ่มจาก ตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม และโครงการนี้จะเป็นศูนย์การประสานงานความร่วมมือของทุกภาคส่วนหากเกิดภัยพิบัติในทุกรูปแบบ รวมไปถึง ภาคเอกชนมูลนิธิ สื่อมวลชน ตลอดจน หน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ เพื่อให้การรับมือภัยพิบัติมีประสิทธิภาพสูงสุด
 
<"">
   
<"">
นายคมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ในช่วงอุทกภัยปี 2554 ที่ผ่านมา สถาบันได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวัง ที่ทำงานร่วมมือกับ 61 ชุมชนในพื้นที่รอบสถาบันฯ เพื่อกำหนดแผนรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ประสบการณ์และบทเรียนต่างๆ ที่ได้รับจึงถูกนำเสนอในรูปแบบของ “ลาดกระบังโมเดล” (สำรวจ – ตั้งรับ – เฝ้าระวัง – ดูแล – ฟื้นฟู) สิ่งสำคัญที่สุดในการบริหารจัดการนั่นคือการรู้ตัวเอง รู้จักภูมิประเทศที่เราอาศัยอยู่ ว่ามีความสูงต่ำของพื้นดินหรือระดับน้ำอย่างไร สถาบันฯมีการสำรวจลำน้ำในคูคลองทั้งในพื้นที่ตนเองและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อจะได้รู้เส้นทางน้ำไหล ปักหมุดระดับน้ำในแต่ละคลองเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและแจ้งให้ชาวบ้านได้รู้ในแต่ละวัน เพราะข้อมูลจากภาครัฐบางครั้งไม่มีความแน่นอน สำหรับคนในพื้นที่ที่โดนน้ำท่วม ก็มีการจัดการดูแลจัดเป็นโรงอาหารทำอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพราะในกรณีของถุงยังชีพจากภาครัฐทำ หลายพื้นที่รอรับอย่างเดียว โดยที่บางครั้งการแจกจ่ายอาจไม่ทั่วถึง บริเวณนอกเท่านั้นที่จะได้รับ พื้นที่ลึกๆ ที่น้ำท่วมหนักมักไม่ได้รับของบริจาค และที่สำคัญคือการฟื้นฟู นั่นคือการผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดเพื่อเข้าฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับน้ำท่วมต่อไป ประเด็นเหล่านี้สามารถใช้ได้กับภัยพิบัติทุกรูปแบบ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยจะมีการส่งทีมงานนักศึกษาไปถ่ายทอดประสบการณ์ หรือ ลาดกระบังโมเดลนี้ ให้แก่ประชาชน เพราะสถาบันการศึกษานั้นต้องอยู่คู่กับชุมชนและเป็นที่พึ่งของสังคมได้ในทุกสถานการณ์
 
นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้จัดการโครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ  กล่าวว่า ในส่วนของลาดกระบังโมเดลนั้นเหมาะกับพื้นที่แต่ละแห่งแตกต่างกันไปเมื่อนำไปปรับใช้ สถาบันการศึกษามีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยเหลือสังคม ด้วยความพร้อมของบุคลากร สถานที่ และเครื่องมือต่างๆ โดยการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชน สำหรับวันนี้ได้รวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเครือข่ายต่างๆ ที่มาถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และจะนำไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ www.thaiflood.com และช่องทางสื่อสารทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ เพื่อตอกย้ำให้เกิดการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ตลอดจนการเชื่อมโยงเครือข่ายให้ทำงานบนข้อมูลเดียวกัน เพราะเมื่อเกิดภัยพิบัติและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การแก้ปัญหาก็จะสามารถทำได้เร็วขึ้น นายปรเมศวร์ ยังกล่าวอีกว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เช่นในกรณีน้ำท่วมนั้น ส่วนตัวมองว่า น้ำไม่ใช่ภัยพิบัติ แต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นทุนแก่มนุษย์ เราจะทำอย่างไรให้ปริมาณน้ำที่เยอะสามารถนำไปแก้ภัยแล้งได้ ไม่ใช่ทำให้เกิดน้ำท่วม ถ้าเรามองแบบนี้ได้เราก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาในส่วนของน้ำ ภัยพิบัติจะไม่เกิดถ้าเรามีระบบจัดการที่ดี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง