มาตรการเข้มงวดทุกโรงงานตรวจสอบระบบความปลอดภัย

สังคม
7 พ.ค. 55
16:01
13
Logo Thai PBS
มาตรการเข้มงวดทุกโรงงานตรวจสอบระบบความปลอดภัย

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลมีแผนเร่งด่วนในการดูแลคนงานที่บาดเจ็บ และเสียชีวิต ให้เข้าถึงสิทธิการรักษา และเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน หลังจากเกิดเหตุการณ์ ในนิคมอุตสหกรรมมาบตาพุด

เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสหกรรมมาบตาพุด และสารคลอรีนรั่วในโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จังหวัดระยอง ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี ออกมาย้ำถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยทั้่งระบบการผลิต และพนักงานในโรงงาน โดยสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้มงวด และตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในทุกขั้นตอน และให้รายงานผลในทุกไตรมาส หากผู้ประกอบการรายใดไม่ทำตาม ก็จะไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการ

ขณะ ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่รวมถึงพนักงานในโรงงานเกี่ยวกับการรั่ว ไหลของสารเคมี และการปนเปื้อนในอากาศที่เกรงว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าสารทูโลอิน และสารคลอรีน เป็นสารที่ระเหยได้ง่ายในอากาศ หากสูดดมเข้าไปจะเกิดการระคายเคือง มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ กดประสาท แสบคอ จมูก คลื่นไส้อาเจียน แต่หากสูดดมในปริมาณมากจะส่งผลต่อเยื้อบุต่างๆ แต่ขณะนี้การตรวจสอบก็ไม่พบการฟุ้งกระจายที่เกินค่ามาตรฐานในการทำงาน ซึ่งสารทูโลอินอยู่ที่ 384 มิลลิกรัมต่อลูกบาศเมตร และสารคลอรีน อยู่ที่ 1.5 มิลลิกรัมต่อลูบาศเมตร อีกทั้งไม่ได้เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลมีแผนเร่งด่วนในการแก้ปัญหานี้ ด้วยการดูแลคนงานที่บาดเจ็บ และเสียชีวิต ให้เข้าถึงสิทธิการรักษา และเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพื่อแสดงความรับผิดชอบนอกเหนือกฎหมาย รวมถึงให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการที่มีอันตรายโดยเร่งด่วน และยุติการผลิตจนกว่าจะได้รับการปรับปรุงและแก้ไขให้ปลอดภัย เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อของสถานประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับชุมชน และภาพลักษณ์ของประเทศ

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องรัฐบาลสานต่อโครงการการดูแลคุณภาพชีวิตคำนึงถึงวิถีชุมชนกับสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะตัดสินใจพัฒนาในพื้นที่อื่น ขณะเดียวกันได้ ยังเป็นห่วงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจจะมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพราะก่อนหน้านี้คนในรัฐบาลมีแนวคิดว่ามาตรานี้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง