ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ชี้วิกฤตหนี้กรีซ กระทบไทยน้อย

15 พ.ค. 55
09:35
18
Logo Thai PBS
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ชี้วิกฤตหนี้กรีซ กระทบไทยน้อย

ผู้สื่อข่ายไทยพีบีเอสได้สัมภาษณ์ ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยารศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศกรีซ ดังนิ้

ถาม : ความเป็นไปได้ของการล้มละลายทางเศรษฐกิจของประเทศกรีซ

ผศ.ธนวรรธน์ กล่าวว่า “ถ้าประเทศกรีซไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินจาก สหภาพยุโรป กับ การทุนกองเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำให้ไม่มีเงินนำมาใช้หนี้อาจทำให้ล้มละลายได้ เนื่องจากประเทศกรีซ มีหนี้อยู่ประมาณร้อยละ 60 ของจีดีพี ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศกรีซได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปอยู่ แต่ถ้าการเมืองไม่นิ่ง และไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินจาก สหภาพยุโรป และ ไอเอ็มเอฟ อาจทำให้ล้มละลายได้”

ถาม : กรณีประเทศสมาชิกยูโรโซน ไม่อยากให้กรีซออกจากกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซนจริงหรือ

ผศ.ธนวรรธน์ กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศกรีซ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ถ้าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในครั้งนี้ ประเทศกรีซคงพยายามทำตามเงื่อนไขของ ไอเอ็มเอฟ, อีซีบี และสหภาพยุโรป เนื่องจากประธานาธิบดีของประเทศกรีซ มีแนวทางอยากให้อยู่ในยูโรโซน และปฏิบัติตามเงื่อนไขฟื้นฟูเศรษฐกิจของทางด้านนานาชาติต่อไป แต่ถ้าประเทศกรีซ จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จะทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ อาจจะได้พรรคการเมืองที่คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามนานาชาติ และอาจทำประชามติออกจากยูโรโซน โดยประชาชนของประเทศกรีซเอง เพราะไม่ต้องการที่จะเข้มงวดทางการคลัง เพราะอาจทำให้ เศรษฐกิจอาจเติบโตไม่ดี หรือมีการว่างงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการเมืองในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ทางประเทศเยอรมัน หรือสหภาพยุโรป คงยอมให้กรีซออกจากยูโรโซน เพราะเป็นความต้องการของประเทศกรีซเอง แต่ที่นานาชาติไม่อยากให้ประเทศกรีซออกจากยูโรโซน เนื่องจาก ถ้าประเทศกรีซออกจากยูโรโซนแล้วประเทศเจ้าหนี้ และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ของแต่ละประเทศมีโอกาสที่จะมีหนี้เสียจากกรีซ เพราะประเทศกรีซอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ และอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ ของประเทศต่างๆ ล้มละลาย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤต เศรษฐกิจในยุโรป และอาจลามมาถึงเศรษฐกิจโลกได้

ถาม : ถ้ากรีซออกจากยูโรโซน จะกระทบต่อ เศรษฐกิจโลกอย่างไรบ้าง

ผศ.ธนวรรธน์ กล่าวว่า "ถ้าประเทศกรีซออกจากยูโรโซนแล้ว ไอเอ็มเอฟ หรืออีซีบี ยังให้เงินช่วยเหลืออยู่อาจไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ที่นานาชาติกังวลคือ ถ้าประเทศกรีซออกจากยูโรโซนแล้ว ประเทศกรีซอาจจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารกลางของยุโรป และกรีซอาจไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ และอาจผิดนัดชำระหนี้ ทำให้กรีซต้องล้มละลาย และอาจทำให้ ธนาคารกลางของยุโรป และธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มประเทศยุโรปที่เคยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับประเทศกรีซแย่ไปด้วย ถ้าประเทศกรีซล้มละลายจริง เป็นไปได้ว่าธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารหลายแห่งของสหภาพยุโรปมีปัญหาทางการเงิน และเมื่อธนาคารเหล่านั้นมีปัญหาทางการเงิน อาจจะทำให้ตลาดหุ้นโลกตกลง และอาจทำให้ประเทศต่างๆ ขยายตัวติดลบได้ โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะติดลบเหมือนวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2552 เป็นไปได้ แต่โอกาสมีน้อยมาก แต่ถ้าเศรษฐกิจประเทศกรีซล้ม แล้วดึงเศรษฐกิจประเทศสเปนล้มด้วย จะดึงเศรษฐกิจประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมันล้ม จะทำให้เศรษฐกิจโลกล้มหนักขึ้นไปอีก
ถาม : ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศกรีซผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร
ผศ.ธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งนี้คงต้องติดตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอีกครั้งว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรปมากน้อยแค่ไหน ซี่งหากกระทบไม่มากก็อาจส่งผลต่อประเทศไทยไม่มากเช่นกัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลของไทยก็ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีน่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำว่าร้อยละ 4 แต่ถ้าวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป ไม่กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ถึงเกือบร้อยละ 6 แต่ถ้าเศรษฐกิจทั้งโลกติดลบจริงๆ เหมือนวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2552 อาจทำให้ เศรษฐกิจไทยเติบโตได้แค่ร้อยละ 2-3 เท่านั้น ขณะที่ ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศอาเซียนมาก แต่ส่งออกไปยังประเทศกลุ่มยุโรปน้อยประมาณร้อยละ 10 เท่านั้น แต่ยังมีความเป็นไปได้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตได้ไม่มาก เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนก็ยังมีการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งการขยายตัวของเสรษฐกิจในไทยอาจเติบโตได้ร้อยละ 10 จากปกติที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ 20"

ถาม : ผลกระทบระยะสั้น และระยะยาวต่อประเทศไทย รวมถึงวิธีการรับมือกับเศรษฐกิจในช่วงนี้

ผศ.ธนวรรธน์ กล่าวว่า "ผลกระทบระยะสั้นมีแน่นอน เช่นราคาทอง, ราคาหุ้น, การส่งออก อาจจะมียอดขายที่ลดลง, นักท่องเที่ยวกังวลใจไม่กล้าท่องเที่ยว เป็นไปได้ที่การค้าขาย หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับต่างประเทศอาจจะผิดเพี้ยนไปในระยะสั้น มีความไม่แน่นอน

ด้านระดับประเทศ รัฐบาลควรกระตุ้น เศรษฐกิจภายในประเทศแทน และต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้โครงการต่างๆ ที่วางไว้เป็นไปตามแผน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ และเพิ่มการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และรัฐบาลควรใช้ประชานิยมในการซื้อสินค้า และใช้สินค้าในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตเพื่อประคับประคองในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา

ระดับธุรกิจ ถ้าธุรกิจส่งออกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศยุโรปโดยตรง จะต้องรักษาสภาพคล่อง ให้พยายามกระจายสินค้าออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังมีกำลังซื้อ เช่นประเทศในแทบอาเซียน แต่ถ้าธุรกิจที่ไม่เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโลกเลย คือธุรกิจภายในประเทศ อาจมีผลกระทบไม่สูงมากนัก ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องดูแลราคาต้นทุนเพื่อให้ขายสินค้าได้ เพื่อรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านประชาชน จากเศรษฐกิจยุโรป จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนต่อการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยซึ่งมีแนวโน้มว่า จะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเสี่ยง ทำให้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ แนะนำให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และใช้จ่ายอย่างประหยัด เพื่อให้มีเงินติดตัว และอย่าเพิ่งลงทุนอย่างผลีผลาม

ส่วนในระยะยาว ถ้าวิกฤตเศรษฐกิจยุโรป กระทบต่อเศรษฐกิจโลกจริง เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้า อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าที่จะฟื้นตัว ทำให้การพึ่งพาการส่งออก และ เศรษฐกิจต่างประเทศของไทยอาจทำได้ใม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศ เป็นเรื่องที่จำเป็น ภาคธุรกิจควรมองตลาดต่างๆ ที่ไม่มีผลกระทบเท่าไหร่ ตลาดเอเชียมากขึ้น"


ข่าวที่เกี่ยวข้อง