ก.เกษตรเตือนอย่าเติม “น้ำหมักชีวภาพ” ลงในน้ำยาง

สิ่งแวดล้อม
8 มิ.ย. 55
13:34
50
Logo Thai PBS
ก.เกษตรเตือนอย่าเติม “น้ำหมักชีวภาพ” ลงในน้ำยาง

กรมวิชาการเกษตรเตือนเกษตรกรอย่าเติม “น้ำหมักชีวภาพ” ลงในน้ำยาง พบมากในพื้นที่ภาคอีสาน ชี้ผลเสียกระทบต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ หวั่นทำยางล้อระเบิด แนะแปรรูปเพิ่มมูลค่า พร้อมพัฒนาสู่มาตรฐานเพื่อเสริมศักยภาพแข่งขัน

 นายสุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชาวสวนยางพาราหลายรายในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เติมสารสกัดจากธรรมชาติลงไปในน้ำยางทดแทนการใช้กรดฟอร์มิกเพื่อช่วยในการจับตัวของยาง  โดยมีทั้งการเติมน้ำหมักชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้ ถือเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสมบัติทางกายภาพของยาง ทำให้คุณภาพของยางเสียไป และอุตสาหกรรมยางไม่ยอมรับเนื่องจากน้ำหมักชีวภาพและน้ำส้มควันไม้ทำให้ยางจับตัวไม่เต็มที่และน้ำยางสกปรก เมื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ยางแท่ง ทำให้ค่าความอ่อนตัวเริ่มแรกของยางหรือค่าพีโอ(PO : Plastic Origin)ไม่ได้มาตรฐาน เพราะโมเลกุลยางสั้นลงและมีความเป็นพลาสติกมากขึ้น  

 
ที่สำคัญหากนำยางที่ใช้น้ำหมักชีวภาพหรือน้ำส้มควันไม้ช่วยในการจับตัว ไปผลิตเป็นยางล้อยานยนต์ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่ยางล้ออาจเกิดการระเบิดได้ หรือถ้ามียางชนิดดังกล่าวปนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมยาง จะทำให้ประเทศผู้นำเข้าและผู้ใช้ยางขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้า อาจกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกยางพาราของไทยในระยะยาวได้  ดังนั้น จึงไม่ควรเติมน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำส้มควันไม้ลงในน้ำยาง เพราะอาจทำลายการผลิตยางทั้งระบบ
 
นายสุจินต์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยยางแนะนำให้ใช้กรดฟอร์มิก ความเข้มข้น   90 % หรือ 94 %  ช่วยในการจับตัวของยาง โดยต้องเจือจางให้เหลือ  2-5 %  ด้วยการใช้กรดเข้มข้น 2 ช้อนแกง ผสมน้ำสะอาด 3 กระป๋องนม   ซึ่งกรดฟอร์มิกจะช่วยให้ยางจับตัวเร็วในช่วงเวลาที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพยาง  อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรผลิตยางให้มีคุณภาพได้มาตรฐานป้อนตลาด  ทั้งยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางก้อนถ้วย และควรมีการรวมกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า พร้อมยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานโดยเฉพาะการผลิตยางอัดก้อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ยาง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างจุดแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรได้ 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง