นักวิชาการชี้ประชาชนค้าน "กิจการถ่านหิน" เหตุไร้หน่วยรัฐดูแลจริงจัง

สิ่งแวดล้อม
11 มิ.ย. 55
14:27
8
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ประชาชนค้าน "กิจการถ่านหิน" เหตุไร้หน่วยรัฐดูแลจริงจัง

ผลกระทบจากมลพิษโรงงานถ่านหินหลายแห่งในจังหวัดสมุทรสาคร แม้ที่ผ่านมาทางจังหวัดจะแก้ปัญหาด้วยการทำข้อตกลงให้หยุดกิจการชั่วคราว แต่สิ่งที่ไม่มีการพูดถึง คือ กระบวนการเยียวยา ขณะที่ชาวบ้านเองยังเดินหน้าคัดค้านเพราะไม่วางใจกับการแก้ปัญหาของภาครัฐ ขณะที่การคัดค้านกิจการถ่านหินในหลายพื้นที่นั้น นักวิชาการด้านพลังงาน เห็นว่า เป็นเพราะวิธีดำเนินกิจการถ่านหินในไทยยังไม่ได้มาตรฐาน ต่างจากในต่างประเทศที่ทุกขั้นตอนเป็นระบบปิด

  

<"">
  
<"">

กว่า 2 ปีที่นายกิตติศักดิ์ สังข์ทอง ชาวตำบลสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ต้องปล่อยให้สวนมะขามเทศที่เคยสร้างรายได้ปีละหลายแสนบาทถูกทิ้งร้าง และ หันไปประกอบอาชีพรับจ้างแทน หลังได้รับผลกระทบฝุ่นถ่านหินจากโรงงานใกล้เคียงจนแม่ค้าไม่กล้ารับซื้อ

โดยปัจจุบันแม้เขาจะกลับมาฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร หลังโรงงานถ่านหินประมาณ 8 แห่ง ถูกจังหวัดสั่งระงับกิจการชั่วคราว แต่คาดว่าต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จึงจะให้ผลผลิต สำหรับนายกิตติศักดิ์ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษโรงงานถ่านหิน แต่ปัจจุบันทั้งโรงงานและภาครัฐไม่เคยนำเข้าสู่กระบวนการเยียวยา

ในขณะที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งยังเดินหน้าคัดค้าน และ ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่โปร่งใสการอนุญาตสร้างโรงงาน และ ท่าเทียบเรือถ่านหินของภาครัฐทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชัดเจน และ มีการแอบอ้างชื่อชาวบ้าน

ขณะที่บริษัทยูนิคไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด มหาชน หนึ่งในโรงงานถ่านหิน ชี้แจงการดำเนินการหลังจังหวัดสั่งระงับชั่วคราวว่า บริษัททำตามข้อตกลงทั้ง 5 ข้อ เหลือเพียงการขนถ่านหิน 400,000 ตัน ออกจากพื้นที่ โดยมีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อชุมชน โดยเฉพาะการติดตั้งเครื่องวัดปริมาณฝุ่นถ่านหินทั้งในอากาศ และ ในน้ำ ไม่ให้เกินมาตรฐาน และ ยังมีหน่วยงานรัฐคอยตรวจสอบ

สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ที่เกิดปัญหาคัดค้านกิจการถ่านหิน ซึ่ง  รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ หัวหน้าภาควิชาวิศกรรมเหมืองแร่ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ระบุว่า เป็นเพราะวิธีดำเนินกิจการถ่านหินในไทย ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐานเพราะผู้ประกอบการขาดความรู้และไม่กล้าลงทุน ต่างกับในต่างประเทศที่ทำทุกขั้นตอนเป็นระบบปิดโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แม้จะใช้เงินลงทุนสูง แต่คุ้มค่าในแง่การดูแลสิ่งแวดล้อม และ เป็นที่ยอมรับของชุมชนรอบข้าง

นักวิชาการ ยังระบุว่า ถึงเหตุผลที่ทำให้การควบคุมกิจการถ่านหินของภาครัฐทำได้ยากจนนำไปสู่การคัดค้านของชาวบ้านว่า เป็นเพราะมีหน่วยงานที่ดูแลกระบวนการจัดตั้งและการดำเนินกิจการถ่านหินเกือบ 10 หน่วยงาน แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบโดยตรงทำให้การแก้ปัญหาใช้เวลานานและหลายกรณียังไม่ได้ข้อยุติ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง