สปสช. ส่งยาต้านพิษรักษาเด็กได้รับสารพิษเกินมาตรฐาน

สังคม
8 ก.ค. 55
08:20
9
Logo Thai PBS
สปสช. ส่งยาต้านพิษรักษาเด็กได้รับสารพิษเกินมาตรฐาน

สปสช.ระบุโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ ช่วยผู้ป่วยรับพิษเข้าถึงยารวดเร็ว เผยการจัดหา สำรองยา และเร่งพัฒนาระบบการจัดส่งสำหรับกลุ่มยากำพร้าเป็นสิ่งจำเป็น แม้มีอัตราการใช้น้อยมาก แต่หากไม่ได้รับทันทีมีโอกาสเสี่ยงต่อชีวิตสูง ชี้ล่าสุดกรณีเด็กที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ได้รับสารตะกั่วเกินปริมาณที่กำหนดสปสช.เร่งประสานส่งยาต้านพิษให้รพ.อุ้มผางใช้รักษาได้ทันทีเด็กปลอดภัย

 นายแพทย์วินัย สวัสดิวร  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) .กล่าวว่า ตามที่สปสช.ได้มีโครงการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้า โดยเริ่มดำเนินการตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2553 โดยเริ่มแรก มีการเพิ่มการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ 6 รายการ และเพิ่มอีก 4 รายการ รวมเป็น 10 รายการในปีต่อมา   สำหรับ สปสช. ได้เข้ามามีบทบาทในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการจัดหา การสำรองยา การพัฒนาระบบ ให้ครอบคลุมผู้ป่วยทุกสิทธิและเน้นแนวคิดของการจัดการกลุ่มยาต้านพิษที่ต้องบริหารจัดการให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้เร็วที่สุด

 
ทั้งนี้ สปสช.ได้ดำเนินการสำรองยาและการจัดส่งเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาทันที โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในการผลิต เช่น สภากาชาดไทย โรงงานเภสัชกรรมทหาร  และได้องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ในการจัดหาและกระจายยา โดยมีศูนย์พิษวิทยาของรพ.รามาธิบดีและรพ.ศิริราชเป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้และตอบข้อซักถามทางวิชาการตลอดจนติดตามประเมินการสั่งใช้ยาต้านพิษจนจบการรักษา รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นศูนย์สำรองยาต้านพิษของประเทศด้วย
 
เลขาธิการสปสช..กล่าวว่า  จากกรณีพบว่ามีเด็กนักเรียน 16 คน ในอ.อุ้มผาง จ.ตาก มีอาการป่วยสงสัยว่าเกิดจากการได้รับสารพิษ เข้ารับการรักษาที่รพ.อุ้มผาง  ซึ่งหลังจากที่ได้ประสานงานปรึกษา ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี พบว่าเป็นการได้รับพิษจากสารตะกั่ว   กองทุนยาของสปสช. ได้รับการประสานจากโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ได้ติดต่อขอเบิกยาซักซิเมอร์ (Succimer) เพื่อรักษาเด็กจำนวน 16 ราย ที่มีระดับตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตและเกิดทุพพลภาพโดยกรณีดังกล่าวมีความจำเป็นต้องการยามี จำนวนถึง 28 กล่อง และในวันต่อมา องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการส่งยาต้านพิษไปให้รพ.อุ้มผางใช้รักษา และสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยดังกล่าวจนหายเป็นปกติทุกราย  ซึ่งการให้ยาต้านพิษตะกั่ว จะช่วยลดปริมาณตะกั่วในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยลดอาการพิษจากสารตะกั่ว โดยเฉพาะผลกระทบต่อพัฒนาการในเด็กเล็กลงได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง