รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ มั่นใจ แผนจัดการน้ำของรัฐฯ ได้ผล แก้น้ำท่วมได้

การเมือง
20 ก.ค. 55
05:42
10
Logo Thai PBS
รองปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ มั่นใจ แผนจัดการน้ำของรัฐฯ ได้ผล แก้น้ำท่วมได้

เลขาธิการสำนักนโยบาย และบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ แสดงความมั่นใจว่า แนวทางและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของรัฐบาลมีความชัดเจน หากหน่วยงานต่าง ๆ นำแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ได้

นายสุพจน์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ บอกว่า โครงการหลักแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยเฉพาะการทำแนวคันปิดล้อมระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร เป็นการยกถนนที่มีอยู่เดิม ให้สูงขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร คาดว่า จะแล้วเสร็จก่อนที่น้ำจะมาถึง ขณะที่แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในระยะยาว เน้นเรื่องของการสร้างโครงสร้างต่างๆ

ขณะที่ ศ.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวลต่อแผนของรัฐบาลที่ถูกออกแบบมา โดยวางสมมติฐานว่า น้ำมาจากทางเหนือ แต่ในอดีตน้ำที่ท่วมบริเวณภาคกลางหรือกรุงเทพมหานคร จะเกี่ยวพันกับพายุ ซึ่งหากเกิดฝนตกจากพายุ อาจจะทำให้เกิดนำท่วมหนักได้ ดังนั้น ควรมีการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว

เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.55) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร มอบอุปกรณ์ติดตามสถานการณ์น้ำอัตโนมัติ หรือ (Media box) ให้กับหน่วยงานท้องถิ่น 130 แห่งทั่วประเทศ สำหรับใช้ติดตามข้อมูลน้ำและสภาพอากาศ ตลอด24 ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และคาดว่าจะติดตั้งให้แล้วเสร็จจำนวน 500 เครื่อง ในเขตพื้นที่เสี่ยง ภายในปีนี้ เพื่อการเตือนภัยจากระดับชุมชนสู่ระดับประเทศให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งประเมินปริมาณน้ำในช่วงวิกฤตได้

โดยดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ในฐานะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ระบุการคาดการณ์สถานการณ์น้ำว่า ปัญหาคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นจำเป็นที่ต้องเหลือพื้นที่ไม่เสี่ยงภัยเอาไว้ แม้ความเสี่ยงภัยจะลดลง แต่ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่

สถานการณ์น้ำล่าสุด ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนใหญ่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำในอ่างรวมประมาณร้อยละ 43 ของความจุอ่างรวม ทำให้มีพื้นที่ว่างรับน้ำได้อีก 1 หมื่น 4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่น้ำในเขื่อนทั่วประเทศมี 3 หมื่น 5 พันล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 52 ของความจุอ่างทั้งหมด ถือว่าต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีน้ำสูงร้อยละ 60 และมีเขื่อนที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่ำกว่าระดับร้อยละ 30 ของความจุอ่างอยู่ 10 แห่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง