วิจัยคุณค่าอาหารในสำรับข้าวชาวต้นน้ำคู่

Logo Thai PBS
วิจัยคุณค่าอาหารในสำรับข้าวชาวต้นน้ำคู่

ประโยชน์จากงานวิจัยท้องถิ่นที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม ทำให้คนต้นน้ำคู่ จังหวัดเลย ฟื้นฟูวัฒนธรรมการกินอยู่วิถีไทบ้าน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน อาหารในภาหรือสำรับข้าวของชาวบ้านวันนี้ มีพืชอาหารธรรมชาติเป็นหลัก และมาจากการยกผักป่ามาปลูกใกล้บ้าน

กินข้าวเป็นหลักกินผักเป็นยา คือภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ครอบครัวทองแบบ บ้านโคกหนองแห้ว ตำบลเลยวังไสย์ ยึดเป็นหลักในการประกอบอาหารแต่ละมื้อ  กว่า 4 ปีที่อาหารในภา หรือ สำรับข้าว เต็มไปด้วยคุณค่าโภชนาการจากผักพื้นบ้าน เช่นมื้อนี้ มีแกงตาว ใช้ผักตาวมุ่ย ปลาจาด ต้มกับน้ำใบย่านาง สรรพคุณช่วยลดกรดท้องอืดเฟ้อ และเป็นยาเย็น ดับร้อนในร่างกาย สูตรอาหารท้องถิ่นที่แทบไม่ต้องจ่ายเงินซื้อ หลังเปลี่ยนพื้นที่รอบบ้านให้เป็นสวนครัว ปลูกผักป่ากว่า 20 ชนิด เป็นแนวคิดที่ได้จากการทำวิจัยร่วมกับชุมชน ในโครงการอาหารในภาเพื่อการฟื้นฟูอาหารท้องถิ่นในพื้นที่ต้นน้ำคู่ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อสร้างแหล่งอาหารยั่งยืน และพึ่งพาอาหารในธรรมชาติมากขึ้น

กระบวนการยกป่ามาไว้ในบ้าน ทำให้ชาวบ้านศรีเจริญ รู้จักวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าต้นน้ำมาเป็นอาหารท้องถิ่นได้มากขึ้น อย่างเช่นที่บ้านของคุณลุงวิราชนะคะ มีการปลูกผักไว้หลากหลาย แต่นี่คือผักขี้นากที่มาจากป่าภูหลวง สามารถนำมาจิ้มกับน้ำพริก ทำเป็นแกงไก่ หรือว่ากินกับลาบก็ได้ แต่ว่าอาจจะให้รสชาติหวานมันหอม น้อยกว่าผักที่มาจากป่าภูหลวงโดยตรง

เมล็ดพันธุ์จากป่าภูหลวงนับ 100 ชนิด ถูกนำมาปลูกบนสวนผสมกว่า 4 ไร่รอบบ้าน ทั้งหวาย ผักขี้นาก ผักขี้นิว บีปากั้ง หมากม้าว ตาวหรือแม้แต่ดอกกระเจียว เป็นอาหารที่ วิราช ช้อยจอหอ เก็บเข้าครัวได้ทุกมื้อ วิถีเดิมอย่างการพึ่งพาของป่า หาสัตว์น้ำในลำน้ำคู่ และห้วยแฮ่มแหล่งน้ำสาขา ขาดหายไปนับสิบปี หลังปริมาณอาหารธรรมชาติลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากสารเคมีในการทำเกษตรเชิงเดี่ยว

การปลูกพืชอาหารจากป่าทดแทน นำมาประกอบอาหารท้องถิ่นได้มากกว่า 20 เมนู รวบรวมข้อมูลโดยกลุ่มชาวบ้าน หลังขยายความรู้จากงานวิจัย เกือบครึ่งจาก 176 ครัวเรือนหันมาปลูกผักใกล้บ้าน นอกจากมีอาหารแบ่งปันกันมากขึ้นแล้ว ยังเพิ่มจำนวนแปลงเกษตรพึ่งตนเองเป็นร้อยละ 29 จากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 18

ปัจจุบันชาวบ้านศรีเจริญและบ้านโคกหนองแห้ว ดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วยวิถีทางวัฒนธรรม เช่น การบวชวังปลาห้วยแฮ่ม เพื่อสงวนพื้นที่ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์ปลาในอาณาบริเวณ 1 กิโลเมตร นอกจากเรียนรู้วิถีกินอยู่แบบไทบ้าน จังหวัดเลย งานวิจัยท้องถิ่นยังสะท้อนให้เห็นคุณค่าป่าธรรมชาติ และเป็นเครื่องมือสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนในต้นน้ำคู่

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง