แนะวิธีแยกแยะข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ป้องกันการถูกหลอก

ต่างประเทศ
1 พ.ค. 58
05:17
798
Logo Thai PBS
แนะวิธีแยกแยะข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ป้องกันการถูกหลอก

บทบาทของสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยลมีเดีย ปัจจุบันมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างมาก แต่ก็มีข้อควรระวังเพราะข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด ด้านผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษที่มีประสบการณ์การทำงานกับสื่อมวลชนมานานได้แนะนำวิธีการติดตามข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์เพื่อไม่ให้ถูกหลอก

ภาพเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชี่ยลมีเดีย เป็นสื่อที่เข้าถึงคนดูมากที่สุดในเวลานี้ เนื่องจากผู้ชมสามารถดูย้อนหลังได้และจะดูซ้ำกี่ครั้งก็ได้ หรือแม้แต่บันทึกเก็บไว้และแชร์ผ่านออนไลน์ก็ทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้กระแสข้อมูลที่หลั่งไหลในสื่อสังคมออนไลน์มีมากมาย บางครั้งผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์เป็นผู้ที่โพสต์ภาพเองและถ่ายทอดประสบการณ์โดยตรง แต่บางครั้งก็อาจจะเป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาและใช้ภาพเก่า หรือภาพตัดต่อเพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเน็ต โดยไม่สนใจต่อผลกระทบที่ตามมา อาจเรียกได้ว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นเหมือนดาบสองคมที่เราจะต้องรู้เท่าทัน
 
ลิซ่า เอสเซ็กส์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษ ที่มีประสบการณ์การทำงานกับสื่อมวลชนระดับนานาชาติมานานกว่า 25 ปี ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่าควรใช้หลักการอย่างไรเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์

โดยลิซ่า กล่าวว่า เวลาที่ค้นหาข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ ให้ถามตัวเองทุกครั้งว่าข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน หากแหล่งข่าวหรือที่มาไม่น่าเชื่อถือ ข้อมูลในข่าวก็ไม่น่าเชื่อถือเช่นกัน อย่าเชื่อสิ่งที่เห็นหรือได้ยินทุกครั้งจนกว่าจะรู้ว่าต้นตอของแหล่งข่าวมาจากไหน พร้อมแนะนำว่าแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือควรจะเป็นการแถลงอย่างเป็นทางการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ

อย่างไรก็ดี ลิซ่ามองว่าการติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันถือว่าสำคัญมาก เพราะเป็นช่องทางที่กระจายข่าวสารได้รวดเร็ว ยกตัวอย่างเว็บไซต์เฟซบุ็คและทวิตเตอร์ ในส่วนของสื่อมวลชนเองก็ได้ประโยชน์จากช่องทางเหล่านี้ด้วย เพราะทำให้เข้าถึงความเห็นของผู้คนมากขึ้น แต่ขอให้ใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการรับข้อมูล

ในส่วนของสื่อมวลชนก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในภาวะวิกฤต แม้ว่าสื่อสังคมออนไลน์จะมาแรงก็ตาม นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน จากวิทยาลัยการจัดการฮั่งเส็งของฮ่องกง มองว่าสื่อมวลชนถือเป็นที่พึ่งของประชาชนที่จะช่วยหาข้อเท็จจริงมานำเสนอในภาวะวิกฤต อย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้นในฮ่องกง

นายชาน ชี คิท รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยการจัดการฮั่งเส็ง ฮ่องกง ยกตัวอย่างตอนที่โรคซาร์สระบาดในฮ่องกงเมื่อปี 2545-2546 ตอนนั้นประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐบาลว่าเปิดเผยข้อเท็จจริงของการระบาด แต่สื่อมวลชนพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นและสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง

สิ่งหนึ่งที่ถูกสะท้อนถึงบทบาทของสื่อมวลชนในปัจจุบันที่ต้องทำงานท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งในวงการสื่อมวลชนด้วยกันเองและต้องแข่งขันกับสื่อในสังคมออนไลน์ ทำให้บางครั้งสำนักข่าวหลายแห่งเลือกนำเสนอภาพและข่าวที่หวือหวา โดยไม่คำนึงถึงกฎขั้นพื้นฐานว่าสื่อมีหน้าที่รับใช้สังคม มิใช่เน้นสร้างข่าวสีสันเพื่อแย่งจำนวนคนดู


ข่าวที่เกี่ยวข้อง