กรมควบคุมโรคออก 7 มาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

สังคม
27 ก.ย. 55
02:37
153
Logo Thai PBS
กรมควบคุมโรคออก 7 มาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา

กรมควบคุมโรคออก 7 มาตรการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012 โดยเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าออกประเทศไทย เนื่องจากยังไม่สามารถทราบที่มีของโรคว่าเริ่มแพร่กระจายจากประเทศใด

หลังมีการหารือร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยาเกี่ยวกับเรื่องการพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ออกมาตรการเตรียมความพร้อม 7 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การตั้งชื่อ โดยเห็นชอบให้ใช้ชื่อไทยว่า "โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2012" หรือ Novel coronavirus

2.การเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา 3.การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ 4.การดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล 5.การดูแลผู้เดินทาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ผู้เดินทางจากตะวันออกกลางเข้าประเทศไทยประมาณ 10,000 คนต่อเดือน โดยเฉพาะผู้เดินทางเข้าออกซาอุดิอาระเบียกับกาต้าร์ และผู้ที่จะไปแสวงบุญประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในช่วงวันที่ 14 ตุลาคม ไปจนถึงมกราคม 2556

6.การสื่อสารความเสี่ยง มอบให้สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค จัดทำประเด็นการสื่อสารให้ทันสมัย โดยจะมีการอัพเดตข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของสำนักฯ และ 7.กำหนดยุทธศาสตร์ โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ซึ่งไทยและหลายประเทศอยู่ในระดับที่ 1 คือ ระยะแจ้งเตือน และเตรียมพร้อม ระดับที่ 2 กรณีมีผู้ป่วยเข้ามาในไทย แต่ไม่แพร่ระบาด ระดับที่ 3 มีการแพร่ระบาดวงกว้าง แต่ความสูญเสียในด้านการป่วยเสียชีวิต ใกล้เคียงโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ และระดับที่ 4 มีการแพร่ในวงกว้าง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไวรัสชนิดนี้ก่อให้เกิดผลต่อระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารจัดอยู่ในกลุ่มโคโรนาที่ก่อโรคซาร์ส แต่ลักษณะทางพันธุกรรมไม่เหมือนกันทั้งหมด จึงจัดเป็นไวรัสตัวใหม่ ส่วนความรุนแรง หากพูดถึง 2 รายที่พบถือว่ารุนแรง แต่หากจะพูดว่ารุนแรงจนระบาดวงกว้างนั้นยังไม่ทราบ ต้องรอการตรวจสอบเชิงลึก ส่วนการติดต่อนั้น โดยปกติไวรัสโคโรนาจะติดต่อได้ด้วยการสัมผัส ไอ จาม

สำหรับกรณีผู้ติดเชื้อ 2 ราย รายแรกอายุ 60 ปี ติดเชื้อที่ซาอุดิอาระเบีย โดยพบว่าไวรัสส่งผลต่อโรคทางเดินหายใจ และมีอาการไตวาย ถัดมาเป็นผู้ป่วยชาวกาต้าร์อายุ 49 ปี ได้เดินทางเข้าซาอุดิอาระเบีย และมีอาการป่วยเมื่อกลับสู่กาต้าร์ จึงมีการส่งตัวไปรักษาที่ลอนดอน ซึ่งเมื่อทำการแยกเชื้อ พบว่าเป็นการติดเชื้อเหมือนกับเชื้อรายแรก แต่คงไม่สามารถบอกได้ว่าโรคนี้มาจากประเทศใด เพราะต้องรอการสอบสวนก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง