ความเป็นไทยถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการที่สิงคโปร์

Logo Thai PBS
ความเป็นไทยถูกนำเสนอผ่านนิทรรศการที่สิงคโปร์

ความเป็นไทยที่เคยถูกเปรียบว่าเป็นวัฒนธรรมที่ไหลเคลื่อนเหมือนสายน้ำถูกนำเสนอในนิทรรศการไทยไหลนิ่งสู่สายตาผู้ชมชาวสิงคโปร์ผ่านผลงาน 60 ชิ้นของศิลปิน 25 คนที่ Singapore Art Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่เก็บสะสมงานศิลปะอุษาคเนย์ในยุคศตวรรษที่ 20 ไว้มากที่สุด

รูปปั้นพระพุทธรูปสีเทาปนเขียว ตั้งตระหง่านสะดุดตาด้วยลักษณะผิวภายนอกที่ไม่เรียบจากเทคนิค Paper Marche’ที่ใช้เศษธนบัตร 20 บาทรุ่นเก่าซึ่งถูกทำลายจากกรมธนรักษ์มาสร้างสรรค์เป็นงานประติมากรรม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา” ฝีมือของคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินร่วมสมัยที่ตั้งใจสื่อสารถึงโลกปัจจุบันที่เงินมีอำนาจเสมือนเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ ล้อกับเรื่องราวความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของบางคนที่นับถือเพียงรูปเคารพ แต่ไม่ได้เข้าถึงแก่นแท้ของธรรมะ

คามินเป็นศิลปินไทยที่มีผลงานจัดแสดงที่สิงคโปร์หลายครั้ง และผลงานของเขาถูก Singapore Art Museum จัดซื้อไปสะสมอย่างต่อเนื่อง เขากลับมาที่นี่อีกครั้งเป็น 1 ใน 25 ศิลปินในนิทรรศการไทยไหลนิ่งซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่สิงคโปร์ในขณะนี้

คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปิน กล่าวว่า ผมพยายามเอามาผสมกับปัญหาร่วมสมัย ก็คือคนที่ติดอยู่ในวัตถุ เช่น เราคิดว่าเงินคือพระเจ้าหรือพระพุทธเจ้า กลายเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือคุณธรรม ความดีงาม หรือสัจธรรม ผมเลยใช้วัสดุที่คนมองพระพุทธรูปกลายเป็นพระพุทธเจ้า มองเงินเป็นสิ่งเดียวกัน

Tofael Rashid นักโฆษณา ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ผลงานของศิลปินไทยสมัยใหม่โดดเด่นด้วยการคงรากความเป็นไทยอย่างเรื่องพระพุทธศาสนา แต่นำเสนอด้วยแนวคิดแบบร่วมสมัยที่สร้างสรรค์

ภาพร่างขนาดเล็ก 5 ภาพถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยปากกาลูกลื่นอย่างแม่นยำเป็นภาพในชุดไตรภูมิผลงานที่ศิลปินแห่งชาติ ถวัลย์ ดัชนีสร้างขึ้นเมื่อ 30 ปี ก่อนแต่ยังไม่เคยจัดแสดงที่ไหนนำมาจัดแสดงที่สิงคโปร์สะท้อนถึงจิตวิญญาณของศิลปินไทยท่านนี้ที่มีหลักคิดว่าในศิลปะตะวันออกหากไม่รู้จักภูมิจักรวาลในไตรภูมิแล้วก็เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ไร้ราก

ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์ขนาดจิ๋วถูกจัดวางเป็นลายเส้นพระพักตร์ของพระพุทธรูปบนกำแพงขาวพื้นที่ขนาด 8 X 4 ตารางเมตรผลงานของปัญญา วิจินธนสารที่ใช้รูปแบบเดียวกับนิเวศศิลป์ในรายการนิทานแผ่นดินที่ใช้หุ่นไล่กา 1,200 ตัวจัดวางเป็นลายเส้นพระพักตร์พระพุทธรูปบนพื้นที่กว่า 10 ไร่ที่อุทยานประวัติศาสตร์ จ.สุโขทัย ผลงานของ 2 ศิลปินชั้นครูเป็นตัวแทนของศิลปะที่สร้างจากศรัทธาของศาสนาที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยในนิทรรศการที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมเทศนาเรื่องน้ำไหลนิ่งของหลวงพ่อชา ชยสาโร

ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปิน กล่าวว่า งานของคนไทยไม่ได้ทำขึ้นเพียงจากความสามารถ ทำด้วยจิตวิญญาณ ศรัทธา ความประณีตของจิตใจ วัฒนธรรม วิถีชีวิต งานของเรามีรากฐานที่ฝังแน่น แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยที่มั่นคงมาอย่างยาวนาน ให้ชาวต่างชาติรับรู้

อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของพุทธศาสนาแต่เป็นเรื่องของการดำเนินชิวิต สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน ศิลปินพยายามใช้ศิลปะเป็นตัวยึดเหนี่ยวด้วย

ไม่เฉพาะผลงานจิตรกรรมของศิลปินแห่งชาติหลากหลายท่าน ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานของศิลปินร่วมสมัย ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่นำเสนอชีวิตของคนไทยที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสน้ำที่ไหลท่วมบ่าประเทศไทยในปี 2554 ด้วยแรงบันดาลใจจากวิธีการวาดของขรัวอินโขร่ง รวมถึงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่อย่างศิลปะจากเส้นผมของ อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ และผลงานความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอง และครอบครัวของ บุษราพร ทองชัย

นอกจากความเป็นไทยจะถูกจัดแสดงเต็มพื้นที่ชั้น 1 และชั้น 2 ของ Singapore Art Museum แล้ว ทางด้านนอกยังมีผลงานประติมากรรมร่วมสมัยของไทยซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่ผ่านไปมาหน้าพิพิธภัณฑ์ไม่น้อย โดยไอ้จุด รูปปั้นสุนัขที่เคยตั้งอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่มายืนต้อนรับผู้ที่มาชมงานขณะนี้

นิทรรศการไทยไหลนิ่งจัดแสดงที่ Singapore Art Museum ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมปีหน้าซึ่งไม่ไกลจาก Singapore Art Museum มีการจัดนิทรรศการแสตมป์ไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากรของสิงคโปร์ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลวัฒนธรรมไทยในสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง